ผู้สื่อข่าวหรรษา
… ด้วยห่วงใยและหวังให้เพลินใจในช่วงวิกฤต COVID-19 ระบาดไม่รามือ “สำนักพิมพ์มติชน” นำแคมเปญล่าสุดสู่ผู้อ่าน
“Bookrising Against COVID”
เดือนเต็มๆ ระหว่าง 1 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2564 ณ เว็บไซต์ www.matichonbook.com เปิดเทศกาลช็อปหนังสือออนไลน์ ลด 35% สำหรับโปรโมชั่นชุดหนังสือสุดพิเศษ, ลด 30% สำหรับหนังสือสำนักพิมพ์มติชน และลดสูงสุด 15% สำหรับหนังสือต่างสำนักพิมพ์ที่ร่วมรายการ
พร้อมสติ๊กเกอร์ BOOKRISING AGAINST COVID ออกแบบโดย “มวย-ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด” ศิลปินสตรีตอาร์ตเมืองเชียงใหม่ ที่จะพาตีความสังคมไทยผ่านหนังสือและการอ่าน ด้วยผลงานกราฟฟิตี้ที่ใช้สรรพสัตว์เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารย้ายจิตวิญญาณบนกำแพงตามท้องถนน มาไว้ที่เว็บไซต์ สำนักพิมพ์มติชน
ย้ำ!! วันที่ 1 กุมภาพันธ์-1 มีนาคมนี้ ที่ www.matichonbook.com
หน้าแรก – MatichonBook.com
ก่อนจะถึงวันนั้น ซึ่งก็นับถอยหลังไปอีกไม่กี่ชั่วโมงแล้ว ขอเสนอเล่มเด็ดเล่มดังอีกหนึ่งสายปังของสำนักพิมพ์มติชน คือสายประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรม
… “อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของฉายา “อาจารย์โบราณคดีเดินเท้า 2 ปี” ที่ได้มาเมื่อครั้งเผยแพร่ผลงาน “วัดร้างในบางกอก” มติชน ตีพิมพ์เมื่อปี 2559
มาถึงเล่มนี้ นำแกะรอยศิลปกรรมสมัยอยุธยา ท่ามกลางความศิวิไลซ์ของกรุงเทพมหานครที่ขยายเติบโตขึ้นทุกทิศ ทุกทาง ตึกอาคาร ห้างสรรพสินค้า โครงการบ้านจัดสรรทวีคูณขึ้นหลายเท่าตัว แต่รากเหง้าของกรุงเทพฯ อย่างเรือกสวน ไร่นา รวมถึงไปศูนย์กลางชุมชนโบราณอย่างวัดวาอารามโบราณกลับถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
“อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” คือหนังสือที่รวบรวมศิลปกรรมโบราณ อันเป็นหลักฐานสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่ บ่งถึงการเติบโตของกรุงเทพฯ หรือบางกอกในสมัยอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลาง อุโบสถ ใบเสมา เจดีย์
ผู้เขียนได้ออกสำรวจตามเส้นทางแม่น้ำลำคลองเพื่อนำมาวิเคราะห์ตรวจสอบอายุสมัย ซึ่งผลปรากฏว่า ศิลปกรรมในกรุงเทพฯ ยังคงเหลือร่องรอยซากอารยธรรมโบราณที่กำหนด อายุสมัยได้ถึงอยุธยาตอนต้น อันเป็นสิ่งคนกรุงเทพฯ นานวันได้หลงลืมร่องรอยเหล่านี้ไปหมดแล้ว หรือแท้จริงแล้วอาจ ไม่เคยรู้ว่ากรุงเทพฯ ยังมีวัดร้างซ่อนอยู่
… “วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา” ผลงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม รวบรวมข้อมูลวัด และเจดีย์องค์สำคัญในเขตพื้นที่ทั้งในและ นอกเกาะเมือง รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาโดยผู้เขียนนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ และศิลปะในรูปแบบลายเส้นสันนิษฐานสามมิติ ทำให้เห็นสถาปัตยกรรมของ วัดและองค์เจดีย์ที่สูญสลายไปตามกาลเวลา
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่ดำรงอยู่ยาวนานหลายร้อยปี ก่อเกิดศิลปกรรมขึ้นมากมาย ซึ่งแม้ศิลปกรรมดังกล่าวอยุธยาจะได้รับแรงบันดาลใจจากหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะสุโขทัย ล้านนา เขมร หรือพุกาม แต่ช่างอยุธยาก็ได้นำรูปแบบศิลปะที่หลากหลายนั้นมาปรับเปลี่ยนให้เป็นเอกลักษณ์ทางงานช่างของตนเองสะท้อนวิธีคิด “เพราะเป็นพหุลักษณ์ จึงเป็นเอกลักษณ์”
เจดีย์อยุธยาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือเจดีย์ที่แม้จะเป็นซากปรักหักพัง แต่ก็มีความสมบูรณ์ในข้อมูลรูปแบบ อันเนื่องมาจากการค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ แล้วนำมาถ่ายทอดอธิบายในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจ
… “Ayutthaya Underground” ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัดวังชั้นดิน และสิ่งของ ที่จะไขปริศนาคำถามโลกแตกทางประวัติศาสตร์ด้วยหลักฐานทางโบราณคดี เช่นว่า พระราชวังหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองอยู่ไหน? อำนาจวงศ์สุพรรณภูมิเริ่มขึ้นเมื่อไร? กระเบื้องเครื่องเคลือบโบราณหลากสีสัน มีที่มาอย่างไร?
และคำถามมหึมา “พม่าเผาวัดพระศรีสรรเพชญ์จริง หรือไม่?” ที่พบคำตอบพาตื่นตะลึงจากการขุดวังโบราณ ที่ไม่ปรากฏข้อมูลของชั้นไฟไหม้ ในช่วงกรุงศรีอยุธยา แตกเมื่อ พ.ศ. 2310 เลยขัดแย้งปมพม่า เผาอยุธยา
ข้อเขียนโดย นรุตม์ โล้กูลประกิจ นักโบราณคดีอิสระ ในบทความ ‘ชีวประวัติของพระราชวังหลวงจากหลักฐานโบราณคดี’ ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ระบุว่า ไม่มีการพบ ร่องรอยที่แสดงถึงไฟไหม้รุนแรงในพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์เลย
“อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สังคมไทย มักเข้าใจกันว่าพม่าเผากรุงศรีอยุธยาในสงครามคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ทำให้ปรากฏภาคของปราสาทและพระราชวังที่ถูกเผาตามสื่ออยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ผลจากการขุดค้นในเขตพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์กลับไม่พบชั้นดิน ชั้นถ่าน ชั้นขี้เถ้า รวมถึงร่องรอยการเผาไหม้อย่างรุนแรงปรากฏบนโครงสร้างสถาปัตยกรรมและในชั้นดินที่แสดงถึงร่องรอย ไฟไหม้ครั้งใหญ่แต่อย่างใดเลย
นี่คือหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา’ แบบฉบับนักโบราณคดีและไม่โบราณคดี นำทีมโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ที่จะพาไปสำรวจชั้นดินสมัยอยุธยาที่กลบฝังวัด วัง กำแพง และสิ่งของฉายภาพชีวิตชีวาของอยุธยาในอดีตที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นดิน ให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง
… “ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา (ฉบับปรับปรุง)” รวมบทความ 9 เรื่องสุดคลาสิกของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่จะช่วยอธิบายหน้าประวัติศาสตร์ที่หายไป ที่เข้าใจผิด และที่เรายังไม่รู้ให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
หนังสือที่บอกว่านอกจากสุโขทัย-อยุธยาจะมิใช่รัฐที่สืบทอดต่อกันมาอย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมบอกไว้ ทั้งยังหนักหนากว่านั้นด้วยความจริงที่ว่า “แคว้นสุโขทัย” กับ “อาณาจักรอยุธยา” เป็นคู่สงครามกัน
การช่วงชิงอำนาจระหว่างแคว้นสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยานั้น ทั้ง 2 รัฐขับเคี่ยวต่อสู้กันอย่างเข้มข้น สลับซับซ้อนและทิ้งปมปริศนาให้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังต้องหาคำตอบ
ทั้งการหายไปของตระกูลพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองสุโขทัยเก่าตามด้วย เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง ระบบสืบราชบัลลังก์ของแคว้นสุโขทัย ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหาธรรมราชาลิไทกับขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิ
รวมไปถึงเมืองที่หายไปในประวัติศาสตร์ ฯลฯ
… พบกันใหม่วันอาทิตย์หน้า