คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ
2. มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนในเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้รับความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอว่า
1. เดิมคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 331/2560 ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ นักวิชาการ องค์กรประชาสังคม สำนักเทศกิจกรุงเทพมหานคร กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย 2) กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยมีความเห็นและเสนอแนะเพิ่มเติมว่าการแก้ไขปัญหาต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำมาหากินหาเช้ากินค่ำของชาวบ้านและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของที่หรือทางสาธารณะ และควรมีมาตรการกำกับดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง และคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 เห็นชอบให้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรุงเทพมหานคร และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ประกอบกับได้มีการยุบเลิกสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะกรรมการฯ ในขณะนั้น โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2561 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จึงไม่ได้มี การขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
2. ต่อมาได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน โดยมีหน้าที่และอำนาจใน การพิจารณาให้ความเห็น คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนแก่สำนักงาน ป.ย.ป. และให้รายงานผลการดำเนินการในแต่ละเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
3. คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ได้พิจารณาปรึกษาหารือประเด็นการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างนัยสำคัญและสามารถดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผลการพิจารณาที่ได้ดำเนินการศึกษาภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 331/2560 ตามข้อ 1.
4. คณะกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องนี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังสามารถดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งอาจกำหนดให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนได้อีกด้วย
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าควรเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ และให้รับประเด็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางด่วนไปพิจารณาด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบ สำนักงาน ป.ย.ป. จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของเรื่อง
ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือ ทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. สภาพปัญหา ปัจจุบันมีเสียงสะท้อนจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งประกอบอาชีพในที่หรือ ทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า การดำเนินการตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในการไม่ให้มีหาบเร่แผงลอยที่กระทบทางเท้าและการลดจุดผ่อนผันลง โดยจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่แต่ละจุด อาทิ การดึงดูดนักท่องเที่ยว และไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ
2. ข้อเสนอแนะ แบ่งออกได้เป็นข้อเสนอระยะสั้นและข้อเสนอระยะยาว ดังนี้
(1) ในระยะสั้น เห็นควรให้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการและแผนการจัดการในที่หรือทางสาธารณะที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้า หาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
(2) ในระยะยาว เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
(2.1) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดจุดผ่อนผันที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ประโยชน์ในที่หรือทางสาธารณะ โดยมี การคำนึงถึงปัจจัยดังนี้
(ก) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความกว้างของที่หรือทางสาธารณะ การไม่กีดขวางการจราจร และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเกินสมควร
(ข) ความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยมีกลไกการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย
(ค) เป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือพื้นที่สร้างเศรษฐกิจในการทำมาหากินของผู้ประกอบอาชีพรายย่อย โดยคำนึงถึงลักษณะของพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
(2.2) ให้มีคณะกรรมการเพื่อทำผังการใช้ที่หรือทางสาธารณะและบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในระดับกรุงเทพมหานครและในระดับเขต เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบาย การใช้พื้นที่ การกำกับดูแลผู้ประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียน
(2.3) กำหนดให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการใช้ที่หรือทางสาธารณะให้แก่รัฐ เนื่องจากเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการใช้ที่หรือทางสาธารณะ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณในการจัดการบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคได้ตาม ความเหมาะสม
(2.4) ให้กรุงเทพมหานครจัดมาตรการส่งเสริม โดยให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในที่หรือทางสาธารณะที่นำมาใช้ประโยชน์ และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน การจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม 3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ สร้างความสมดุลระหว่างการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้ที่หรือทางสาธารณะ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนในเรื่องนี มีดังนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่ฯ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะและการให้ใบอนุญาต (มาตรา 43 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 58)
2. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่ฯ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือจำหน่ายสินค้าในสถานสาธารณะ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ เจ้าพนักงานจราจร (มาตรา 19 มาตรา 20)
3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่ฯ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กรุงเทพมหานครในเรื่อง การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การผังเมือง การดูแลรักษาที่สาธารณะ (มาตรา 89)
4. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่ฯ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
กำหนดห้ามกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564