++
วันที่ 6 ก.พ.2548 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้คำขวัญหาเสียงว่า “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” และได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง
พ.ศ.โน้น พรรคไทยรักไทยเต็มไปด้วยแม่ทัพนายกอง และหนึ่งในนั้นคือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่มีฉายา แม่ทัพเมืองหลวง เพราะเธอแจ้งเกิดในสนามกรุงเทพฯ เมื่อ 29 ปีที่แล้ว
การเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 22 มี.ค.2535 กระแสมหาจำลอง ส่งผลให้พรรคพลังธรรม สร้างปรากฏการณ์ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในกรุงเทพฯ และนักธุรกิจหญิงที่ชื่อ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งสมัยแรก ที่เขตเลือกตั้งที่ 12 บางเขน,มีนบุรี,หนองจอก และดอนเมือง (ยกเว้นแขวงทุ่งสองห้อง)
สุดารัตน์ ส.ส.สมัยแรก ปี 2535
หลังการเลือกตั้ง หน้าการเมืองหนังสือพิมพ์รายวันยุคนั้น โฟกัสไป ส.ส.หน้าใหม่ 2 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะเลือดใหม่สภาไทย
เพียงไม่กี่ปีในเวทีสภา “สุดารัตน์” ลูกสาว สมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.นครราชสีมา ปี 2512 ก็เป็นดาวจรัสแสง และเป็นแม่ทัพพลังธรรม ในยุคหัวหน้าพรรคชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
เส้นกราฟการเมืองของสุดารัตน์ มีพุ่งขึ้นก็มีทิ่มหัวลง เหลือเธอเพียงคนเดียวในสนาม กทม.ปี 2539 หลังจากนั้น เธอก้าวสู่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมาถึงวันนี้ “สุดารัตน์” ถูกบังคับให้เลือกทางสายใหม่ ในนาม “ไทยสร้างไทย”
ยุคดาวรุ่ง ของคุณหญิงสุดารัตน์
++
ทางสายกลาง
++
เป็นความชัดเจนของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ที่หันหลังให้กับพรรคเก่า พร้อมจับมือกับผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองนำเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาประเทศ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
คุณหญิงหน่อยได้ให้คนไปจดทะเบียนตั้งพรรคแบบด่วนๆ ที่ชื่อว่า “ไทยสร้างไทย” คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย ก็จะสามารถเรียกประชุมสมาชิกพรรคได้ และอาจมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ คงต้องดูกันอีกที
ไทยสร้างไทย ภารกิจครั้งสำคัญ
ระหว่างนี้ อดีตประธานยุทธศาสตร์เพื่อไทย พร้อมคณะผู้ก่อตั้งพรรคใหม่ ออกเดินสายไปพบปะบุคคลสำคัญรวมถึงสื่อหลายสำนัก เพื่ออธิบายการจัดตั้งพรรคใหม่ และนโยบายการแก้ไขปัญหาประเทศ
หลักคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และมุมมองสถานการณ์การเมืองขณะนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เห็นว่า “ไปต่อไม่ได้แล้ว” เพราะฝ่ายเทิดทูนสถาบันก็มองว่าฝ่ายประชาธิปไตยอันตราย ไว้ใจไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็มองฝ่ายเทิดทูนสถาบันอย่างแบ่งแยก สังคมแบบนี้เดินไม่ได้ ทั้งๆ ที่ เรื่องสถาบันกับการเมืองเป็นคนละเรื่อง คนละเลเยอร์กันเลย ไม่ควรนำมารวมกันจนทำให้เกิดความขัดแย้ง
ดังนั้น จุดยืนแรกของพรรคนี้ก็คือ “ไม่แตะสถาบัน และไม่ดึงสถาบันมาอยู่ในวังวนความขัดแย้ง” จุดยืนที่สอง เป็นการเสริมพลังและสร้างโอกาสให้กับ “คนตัวเล็ก” ในสังคม ทั้งคนทำมาหากินทุกอาชีพ รวมทั้งเอสเอ็มอี ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ติดกับดักเรื่องกฎหมายและระบบราชการ จนทำให้ยืนบนขาตัวเองไม่ได้ และพัฒนาต่อยอดได้ยากมาก
พูดง่ายๆว่า พรรคไทยสร้างไทยเป็น “พรรคทางสายกลาง” ทางเลือกใหม่ของคนไทยทั้งประเทศ
++
แบรนด์ ‘หน่อย’ ขายได้
++
สำหรับความคืบหน้ากลุ่มไทยสร้างไทย รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่สนามเลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. ต้องขอพิจารณาอีกครั้ง เพราะเวลาเหลือไม่มาก และเร็วมาก ที่จะเฟ้นตัวเพื่อส่งผู้สมัคร แต่ยอมรับว่าแคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนมาหา และมาขอให้สนับสนุน
ด้านการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า มีความพร้อม ไม่เฉพาะสนามกรุงเทพฯ ในภาคอีสาน ก็มีคะแนนนิยมดี สังเกตจากตัวเองที่ลงไปช่วยหาเสียงนายก อบจ.ในหลายจังหวัด และกลุ่มไทยสร้างไทย มีผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองเป็นอดีต ส.ส.อีสาน จึงถือว่ามีฐานอยู่
สังเกตได้จากผลสำรวจของอีสานโพลล์ ในรอบ 2 ปีมานี้ ชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ ได้รับความนิยมจากคนอีสานเป็นอันดับหนึ่ง
แหล่งข่าวในแวดวงการเมืองอีสานเปิดเผยว่า เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะเชื่อแบบเดิมๆว่า ภาคอีสานขายยี่ห้อทักษิณ เอาเสาไฟฟ้ามาลง ก็ได้รับเลือกตั้ง คงไม่ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของคนอีสานเริ่มเปลี่ยนไป
“ลูกเล่นหาเสียง โหวตพาทักษิณกลับบ้าน ใช้ไม่ได้แล้ววันนี้ คนอีสานเหมือนถูกหลอกมาหลายหน ถ้าเพื่อไทยเอาทักษิณมาลงสนามเอง คนจะเลือก แต่แค่เอาชื่อมาหาเสียงแบบเก่า ไม่ได้แล้ว”
ดังนั้น เลือกตั้งผู้แทนหนหน้า สนามอีสาน ยังเปิดกว้างสำหรับกลุ่มการเมืองใหม่ เพราะชาวบ้านไม่ได้ยึดติดแบรนด์เดิม เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจคือภาคใต้ คุณหญิงหน่อยใช้คำว่า กำแพงที่เคยมี ได้พังลงแล้ว ตั้งแต่ออกจากพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นภาคใต้ของกลุ่มไทยสร้างไทย ก็ถือว่ามีหวัง
ในเวทีเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคไทยสร้างไทย จะไปได้ไกลแค่ไหน ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาด สำหรับคุณหญิงสุดารัตน์ ภารกิจนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ