เผยแพร่:
ปรับปรุง:
วันนี้ (7 ก.พ.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. กำชับให้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของพรรค แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเรื่องน้ำเค็ม น้ำทะเลหนุนทำให้น้ำประปาเกิดความเค็มในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี โดย พล.อ.ประวิตร เร่งให้ ส.ส. เสนอญัตติด่วน 2 เรื่อง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว
ด้าน นายภูดิท อินสุวรรณ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตนและเพื่อน ส.ส.ได้เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาน้ำทะเลหนุน น้ำท่วมขัง และน้ำเน่าเสียของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง และปัญหาภัยแล้งของภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ในอดีตถูกกล่าวว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการใช้คลองในการคมนาคมป็นหลัก ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลจากปากอ่าวไทย ดังนั้นระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงจึงอยู่ในอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุน
“รวมทั้งปริมาณน้ำฝนจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปัญหาน้ำท่วมขังจนทำให้การจราจรติดขัด ปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชน ปัญหาค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์ปกติส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น อีกทั้งการเปิดประตูระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่เป็นเวลาซึ่งไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทำให้การคมนาคมทางน้ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่เป็นรูปธรรม”
นายภูดิท กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างเขื่อนตามแนวการขนส่งเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อการบริหารน้ำขึ้น-น้ำลง ตามแนวของเขื่อนปากน้ำปากแนวป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง และที่ดินชายฝั่งถูกกัดเซาะและสามารถยกพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงได้มากกว่า 10 เมตร นอกจากนี้ การบริหารจัดการเรื่องน้ำของประเทศไทยยังพบปัญหาต่างๆ อีกมากมายทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากปัจจัยของปริมาณน้ำฝนน้อยและลักษณะพื้นผิวดินที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกักเก็บน้ำ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดินหรือความมั่นคงของประเทศในทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการปัญหาเรื่องน้ำ
ส่วน นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับนายสามารถ จึงขอเสนอญัตติด่วนพร้อมกับเพื่อน ส.ส. 20 คน เสนอเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา
เรื่อง การเชื่อมโยงการคมนาคมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันพร้อมป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ สำหรับโครงการสร้างสะพานไทย เป็นความก้าวหน้าของการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบนระยะทาง 80-100 กิโลเมตร ระหว่าง จ.เพชรบุรี กับ แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กับ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วยลดเวลาในการเดินทาง 1-1.30 ชั่วโมง เป็นทางเลือกในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก ที่เรือจะต้องอ้อมแหลมมะละกาและมาเปลี่ยนถ่ายเรือที่ท่าเรือสิงคโปร์ ให้กลับมาใช้ท่าเรือระนองแล้วขนถ่ายขึ้นบกไปส่งสินค้าตามจุดหมายปลายทางในประเทศ
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวอีกว่า หากจะไปต่อเรือก็สามารถเชื่อมโยงกับทำเรือแหลมฉบัง โดยหวังว่าจะเป็นการกระจายความมั่งคั่งจากอีอีซีไปสู่ภาคใต้ตอนบนและจะมีอุตสาหกรรมไปลงทุนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน จะเป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากพัทยาให้มาเที่ยวยัง จ.เพชรบุรี หัวหิน ชุมพร และ ระนอง เป็นการกระจายความเจริญจากภาคตะวันออกมาเชื่อมกับชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสามารถติดตั้งประตูทดน้ำเพื่อเปิด-ปิดให้เรือทุกชนิดผ่านได้ มีสภาพเป็นแก้มลิงขนาด 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นรีบด่วนของประเทศในทางเศรษฐกิจการคมนาคม การขนส่ง และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตนต้องขอบคุณนายสามารถ และ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแก้ปัญหาให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทย
นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า สุดท้ายนี้ ต้องขอบพระคุณเพื่อน ส.ส. ที่ช่วยกันผลักดันเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำประปาเค็ม ตามข้อสั่งการ พล.อ.ประวิตร