ที่มา | น.12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 มี.ค.2564 |
---|
คนกรุงเทพมหาคร ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กำลังจะได้รับการดูแลสุขภาพที่สะดวกสบายมากขึ้น ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จับมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันเปิดโครงการ “3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19” ในหน่วยบริการสังกัด กทม.
3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ ได้แก่ 1.บริการเจาะเลือดถึงบ้าน 2.บริการรักษาทางไกลผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) 3.บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์
สปสช. และ กทม. ปักหมุดนำร่องในโรงพยาบาล 9 แห่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป
โรงพยาบาล (รพ.) ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.รพ.กลาง 2.รพ.ตากสิน 3.รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ 4.รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ 5.รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ 6.รพ.ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 7.รพ.ราชพิพัฒน์ 8.รพ.สิรินธร และ 9.รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน
ทั้งนี้ สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณให้ กทม.ดำเนินโครงการ “3 บริการสุขภาพวิถีใหม่” เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองอย่างดีที่สุด ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้ยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง หากแต่ในอนาคตอันใกล้ ความครอบคลุมเหล่านี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับรายละเอียดของแต่ละโครงการ เริ่มจาก “เจาะเลือดถึงบ้าน” ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน
การให้บริการ แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายเพื่อเข้าไปรับข้อมูล-แผนที่บ้าน อุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายผู้ป่วย และเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน
หากผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ปกติ และแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับ “บริการรักษาทางไกล” หรือเทเลเมดิซีนได้ โดยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบวิดีโอคอล (Video Call)
ขณะที่โครงการ “รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือทางไปรษณีย์” จะเกิดขึ้นหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล และสั่งจ่ายยาแล้ว
ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล เภสัชกรจะบรรจุยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย หรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับยาที่ร้านยาหรือรอรับยาที่บ้านได้เลยโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัด กทม. มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณปีละ 3.9-4 ล้านครั้ง และมีผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่วนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ
ฉะนั้น การเปิด 3 บริการวิถีใหม่ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาโดยตรงแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการพัฒนาระบบบริหาร-บริการสุขภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. บอกว่า หากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ กทม.จะขยายโครงการออกไปให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล ส่วนตัวไม่ได้หวังเพียงแค่ 156 หน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่คิดว่าควรขยายไปยังเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วย
นพ.สุขสันต์ เสนอว่า ในระยะแรกสามารถขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และขยายไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย ระยะต่อมาคือ การเชื่อมข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลระดับชาติ สร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ เชื่อมโยงระบบการส่งต่อ และระยะที่สาม คือ การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ
“ทุกวันนี้ เรามีเทคโนโลยีที่ใช้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดสภาพร่างกายผ่านสมาร์ทโฟน หรือเครื่องวัดการทำงานหัวใจ-ความดัน ที่เป็นเครื่องขนาดเล็กติดตัว ซึ่งจะส่งข้อมูลมาเป็นระยะผ่านระบบโทรเวชกรรม ตรงนี้ทำให้แพทย์สามารถติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดด้วย” นพ.สุขสันต์ กล่าว
“นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา” เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กทม.เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการที่บ้าน แทนที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทย ตรงนี้สะท้อนว่า กทม.มีความพยายามดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสที่จะเข้าถึงบริการได้น้อย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
ขณะที่ “นพ.จักรกริช โง้วศิริ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องที่ต้องมีการศึกษาต่อไป แต่ยืนยันว่าการให้ดำเนินการจะไม่กระทบต่อภาระงบประมาณทั้งในส่วนของหน่วยบริการ และงบประมาณในภาพรวม ที่สำคัญคือ ต้องไม่สร้างปัญหาต่อภาระงานของผู้ให้บริการด้วย
“โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งนอกเหนือจากในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว สปสช.ยังได้เริ่มขยายไปในส่วนของภูมิภาคด้วย ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ นโยบายนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การลดต้นทุนของโรงพยาบาล แต่ยังช่วยลดต้นทุนของประชาชน และประเทศชาติในระยะยาวด้วย” นพ.จักรกริช ระบุ