นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) ว่าตนเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อแจ้งความ เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ว่าละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)
การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเฌอเอมโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ (13 ก.พ.) ว่า “สวัสดีค่ะ ดิฉัน เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ นางงามคนแรกที่โดนแก๊สน้ำตา” ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพยายามเคลื่อนขบวนไปเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
- นางงามคนแรกที่โดน “เฌอเอม” เล่านาทีระทึก เจอแก๊สน้ำตาทั้งที่ยืนโบกรถอยู่เฉยๆ
ส.ส. จ.ราชบุรี มองว่าโพสต์ดังกล่าวไม่ตรงกับความจริงถึง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเฌอเอมไม่ใช่นางงาม เพราะเป็นเพียงผู้เข้าประกวดเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ 2 นางสาวปารีณา อ้างว่าตำรวจไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตาระหว่างการสลายการชุมนุมในคืนวันเสาร์ จึงมองว่าเฌอเอมตั้งใจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมในวงกว้าง
“จากโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้สื่อและสังคมเข้าใจว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาในการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 ส่งผลให้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงว่าไม่มีการใช้แก๊สน้ำตา อีกทั้ง การโพสต์ข้อความโดยใช้คำว่านางงาม ก็เป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพราะทำให้สังคมเข้าใจว่านางสาวชญาธนุส เป็นนางงาม ซึ่งข้อเท็จจริงนางชญาธนุสเป็นเพียงผู้สมัครเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร โพสต์คลิประหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันเสาร์ (13 ก.พ.) ลงทวิตเตอร์เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (14 ก.พ.) โดยจะเห็นว่าในคลิปมีกลุ่มควันสีขาวพุ่งออกมาจากวัตถุบางอย่างบนถนน ซึ่งกลุ่ม DNA เชื่อว่าเป็นแก๊สน้ำตา
“มี คฝ.โยนแก๊สน้ำตาออกมา พี่เอารถออกมาไม่ได้ คฝ. เลยทำการล้อมรถคันนั้นไว้ และได้จะทำการจับกุม น้องคนที่โดนจับกุม ทำการจอดรถ เพื่อช่วยเหลือพี่คนนั้น และได้โดยคฝ วิ่งเข้ามา ทีม คฝ. ชุดแรก เห็นเป็นทีมอพทย์ จึงปล่อยผ่าน คฝ. ทีมตามมาที่หลังจากนั้น ได้ล็อกตัว กดลงกับพื้น” DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร โพสต์