ติดเชื้อทะลุหลักพันแล้ว! “ศบค.”แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ 1,335 ราย “เลขาฯ สมช.”เผยอาจต้องล็อกดาวน์พื้นที่สีแดง “กทม.-ปริมณฑล” ชี้ให้รอฟัง“ศคบ.”วันนี้ “เชียงใหม่”รายวันพุ่งไม่หยุด พบเพิ่มอีก 270 ราย ยอดสะสมเฉียด 1,500 รายแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลตรวจอีกนับพัน ขณะที่”สธ.”เปิดผลประเมินยอดติดเชื้อ เล็งเพิ่มมาตรการคุมหลัง‘สงกรานต์ “ขอเวิร์กฟอร์มโฮม 2 สัปดาห์”โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่เสี่ยง
เมื่อวันที่ 14 เม.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,335 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 789 ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 537 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 35,910 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 13,973 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 18,716 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,221 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,322 ราย เพิ่มขึ้น 34 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 97 ราย
โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว. สาธารณสุข เดินทางมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย พร้อมกับกล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตนก็มีความเป็นห่วงแต่กระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้านเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทั้งจำนวนบุคลากร ยาเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเตียงก็มีการจัดหาเต็มที่เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสรุปใน 3 เรื่อง คือ สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆคาดว่าอาจจะมีการพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 รายต่อวัน เพราะฉะนั้นข้อสรุปคือ 1. ประชุมมีการเสนอมาตรการที่สำคัญนอกจากมาตรการที่ทำไปแล้วคือการปิดสถานบันเทิง ก็ให้เพิ่มมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทำการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง ลดการรวมตัว และให้ทำงานที่บ้าน ขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมป้องกันโรค 2. กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยเรื่องการบริหารจัดการเตียงในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกการทำงานให้บริหารจัดการได้ดีขึ้นรวมถึงเพิ่มจำนวนเตียงขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับการรองรับสถานการณ์ 3. เรื่องวัคซีน covid 19 กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันด้วยข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลทางด้านวิชาการว่าวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทยทั้งวัคซีนแอสตร้าเซน้นก้า และซิโนแวค มีคุณภาพ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยสั่งการให้มีการบริหารจัดการ และดำเนินการฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าให้ได้ 100%
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นวันหยุด แต่เรายังเดินหน้าฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่องโดยขณะนี้มีการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 579,305 ใน 77 จังหวัดมีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 505,744 ราย รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 73,561 ราย ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายและกำหนดเวลา เพราะฉะนั้นเชื่อมั่นได้ว่าการฉีดวัคซีนในประเทศไทยโดยเฉพาะวัคซีนหลักที่จะมาในประเทศไทยราวๆ 60 ล้านโด๊สนั้นจะมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการฉีดให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ ล่าสุดนายอนุทินได้กำชับเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนจากซิโนแวคที่เข้ามาล็อตล่าสุด 1 ล้านโด๊ส นั้นคาดว่าจะส่งได้ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการส่งให้บุคลากรด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 600,000 โดส จึงขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการฉีดให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน หมายความว่าบุคลากรทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทั้งนี้เพื่อรองรับการระบาดในระยะนี้
วันเดียวกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การดำเนินมาตรการฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีข้าราชการจำนวนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหน่วยงาน จึงขอให้กรม ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย พิจารณาการอนุญาตให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการตามความเหมาะสมกับโครงสร้างและบริบทของแต่ละส่วนราชการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมทั้งสามารถทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อมิให้เกิดความคับคั่งในขณะเดินทางช่วงวันหยุดยาว โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มี.ค.63
ขณะเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า การยกระดับมาตรการที่ ศบค.ใช้อยู่มี 3 มิติ คือ มิติพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อสูง มิติกิจการใดที่เสี่ยง และมิติกิจกรรมใดที่เสี่ยง ขณะนี้ เฝ้าระวังรายพื้นที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันสามารถควบคุมได้
ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในที่ประชุมได้หารือกัน ที่อาจต้องใช้มาตรการบางพื้นที่ มีพื้นที่กทม.-ปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ บางจังหวัดของภาคตะวันออก เช่น ชลบุรีและพัทยา โดยต้องฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก โดยในวันที่ 15 เม.ย. ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) จะนำข้อมูลสถานการณ์เข้าหารือกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อหารือถึงสถานการณ์ และมาตรการที่จะออกมาหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เตรียมการ หากมีความจำเป็นต้องยกระดับจะทำอย่างไร ซึ่งทีมงาน ศบค.เตรียมการไว้แล้ว เช่น การยกระดับพื้นที่กลับขึ้นมา เช่น พื้นที่เขียว มาเป็นพื้นที่เหลือง พื้นที่เหลือง เป็นพื้นที่ส้ม พื้นที่ส้ม เป็นพื้นที่แดง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนโดยรวม จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหารายพื้นที่และกิจกรรม
วันเดียวกัน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 270 ราย นับรวมเป็น 1,461 ราย ของการระบาดรอบใหม่แล้ว และยอดสะสมรวมของจังหวัดเชียงใหม่เป็นทั้งสิ้น 1,530 ราย ซึ่งช่วงเย็นวันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จะมีการแถลงรายละเอียดการสอบสวนโรคต่อไป พร้อมทั้งจะมีการชี้แจงกรณีที่นักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รายหนึ่งโพสต์เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่แจ้งผลการตรวจผิดพลาดว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ได้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 แต่ต่อมาตรวจสอบยืนยันปรากฏตัวเองไม่ติดเชื้อแต่อย่างใด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงต้องการทวงถามหาความรับผิดชอบ และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการตรวจหาเชื้อ
ขณะที่ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงยังอยู่ระหว่างการตรวจและรอผลอีกหลายพันราย โดยกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางไปสถานที่เสี่ยงระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสามารถติดต่อขอรับการตรวจได้ที่จุดตรวจร้านวอร์มอัพ คาเฟ่,โรงพยาบาลประสาท และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ7รอบพระชนมพรรษานั้น เบื้องต้นมีการับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วประมาณ1,000ราย พร้อมขยายเพิ่ม รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 400 เตียง รองรับผู้ป่วยเฉพาะผู้ชายเท่านั้น เตรียมเปิดใช้พรุ่งนี้(15 เม.ย.64)
ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด19 ตอนหนึ่ง ว่า ผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วยรายวัน ระยะ 1 เดือนข้างหน้า มีการคาดการณ์ทางวิชาการและระบาดวิทยา ว่า หากไม่มีมาตรการใดๆในทางทฤษฎีตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 9,140 ราย แต่เมื่อเรามีมาตรการปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงตัวเลขจึงอยู่ที่ 2,996 ราย ซึ่งตัวเลขขณะนี้ใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ซึ่งจะลดตัวเลขผู้ป่วยเหลือ 934 ราย
อย่างไรก็ตาม ในมุมสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ เพราะการมีผู้ติดเชื้อระดับหลายร้อยคนจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ จึงต้องเพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัว ทั้งกิจกรรมสาธารณะ หรือกิจกรรมในครอบครัว อย่างปาร์ตี้ส่วนบุคคลอยู่ในครอบครัว แต่มารวมตัวกันจากหลายๆที่ก็ทำให้ติดเชื้อ แต่เมื่อเรามีมาตรการนี้จะทำให้ผู้ป่วยลดเหลือ 593 ราย ซึ่งภาพรวมยังไม่พอ จึงต้องเพิ่มมาตรการ เช่น การทำงานที่บ้าน WFH ก็จะลดตัวเลขติดเชื้อเหลือ 391 ราย โดยการคาดการณ์ตรงนี้จะมีเสนอและปรับเพิ่มมาตรการต่างๆต่อไป
ทั้งนี้ การระบาดของโรคโควิด19 ระลอกนี้เดือนเมษายน กระจายค่อนข้างเร็ว เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ กลุ่มเสี่ยง อยู่ในวัยทำงาน กลุ่มนักศึกษาที่กลับภูมิลำเนา ซึ่งเริ่มมีสัญญาณพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นท่านที่เคยไปสถานบันเทิง เป็นนักศึกษาไปออกค่าย และไปพบญาติพี่น้อง หรืออยู่ในครอบครัว ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่ที่เราพบ ผู้สูงอายุไม่ได้ไปงานปาร์ตี้แต่ติดเชื้อจากคนในบ้าน และกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อแล้วรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตได้
“ช่วงหลังสงกรานต์ ท่านรองนายกฯ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เน้นการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคน และผู้ติดเชื้อแล้วต้องได้รับการรักษาในรพ.ทั้งรัฐ และเอกชน รวมทั้งรพ.สนาม และฮอสพิเทล เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย แม้อาการไม่มากในส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายส่วนอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปอดบวมและอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และหากไม่อยู่รพ. ก็มีโอกาสแพร่เชื้อในครอบครัว หรือในชุมชน จึงขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันตัวเอง การเดินทางขอให้จำเป็นเท่านั้น และหลังสงกรานต์ขอให้ทำงานที่บ้าน Work from Home ในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในจังหวัดเสี่ยง อย่างน้อย 2 สัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว