มาตรการ “เชิงรุก” หยุดยั้งการระบาดเชื้อไวรัสโควิดให้เร็วที่สุด ก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะถึงขีดจำกัดรับผู้ป่วยไว้ได้
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในกรุงเทพฯ จากการระบาดระลอก 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึง 8 พ.ค. มียอดผู้ป่วยสูงสุดอันดับ 1 ของประเทศอยู่ที่ 18,029 คน กลายเป็นสถานการณ์ยกระดับการเฝ้าระวังเข้มข้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส “โควิด” ในกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อ 10 เขตสูงสุด ตลอดวันที่ 1 เม.ย.- 5 พ.ค.พบว่า เขตห้วยขวางมีผู้ป่วยสูงสุดอยู่ที่ 463 ราย ดินแดง 426 รายบางเขน 357 ราย จตุจักร 356 ราย วัฒนา 330 ราย ลาดพร้าว 325 ราย วังทองหลาง 300 ราย สวนหลวง 290 ราย บางกะปิ 282 รายและบางแค 241 ราย
เป็นที่มาการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้ทุกเขตบริหารจัดการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาการ แบ่งงานออกเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลจัดสรรบุคลากร 2.ฝ่ายปฏิบัติการตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วยการสว็อบเป็นหลัก
3.ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง มีหน้าที่เร่งส่งผู้ติดเชื้อจากศูนย์เอราวัณ ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ ส่งไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel 4.ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ และ 5.ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดจำนวนมาก อาทิ เขตคลองเตย
“กรุงเทพธุรกิจ” ยังตรวจสอบไปที่การค้นหาเชิงรุกในโซน “ชุมชน” พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจหน่วยงาน กทม.ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. – 5 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และห้างสรรพสินค้า รวม 49 แห่ง 69 ครั้ง ตรวจไปแล้ว 42,251 ราย พบติดเชื้อ 1,677 ราย คิดเป็น 3.97%
โดยเฉพาะกลุ่ม “คลัสเตอร์“ ที่เขตคลองเตย กทม.ได้กลับมาใช้ “บางแคโมเดล” ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกลุ่มเสี่ยงใน 12 ชุมชุนคลองเตยวันละ 2,500-3,000 คน จนถึงวันที่ 19 พ.ค. ให้ครอบคลุมตามกลุ่มเป้าหมาย 50,000 คน หรือ 70% ของจำนวนประชากรที่อาศัยในชุมชน ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเดือน เม.ย.มากถึง 304 คน มาจากแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย และผู้พักอาศัยสถานที่อื่นอีก 111 ราย
ส่วนการตรวจเชิงรุกชุมชนเคหะบ่อนไก่ และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวันนั้น พบผู้ติดเชื้อที่ผ่านมาที่ 59 ราย โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในแขวงลุมพินีและปทุมวันมากถึง 142 ราย นอกจากนี้ในชุมชนบ้านขิง บางบอน 3 แขวงหลักสอง เขตบางแค จากการตรวจเชิงรุก 27 เม.ย.-3 พ.ค. พบผู้ติดเชื้อ 71 ราย ขณะเดียวกันเขตดินแดง ยังมีคำสั่งปิดตลาดห้วยขวาง 7 วันตั้งแต่ 3-9 พ.ค. ภายหลังพบลูกจ้างชาวพม่าติดเชื้อ 2 คน ทำให้ กทม.ต้องเร่งตรวจอีกกว่า 300 คน
ขณะที่การตรวจกลุ่มพนักงานในสถานประกอบการนั้น กทม.เริ่มที่กลุ่ม “ราชประสงค์” อาทิ โรงแรมอโนมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ดศูนย์การค้าเกษร ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชประสงค์ และคลองเตย ตามเป้าหมายการตรวจ 2,000 คน ซึ่งเป็นไปตามมีไทม์ไลน์ตรวจโควิดเชิงรุกใน 17 เขตจำนวน 7,200 คน ระหว่างวันที่ 3-7 พ.ค.ที่ผ่านมา
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังไม่หยุดนิ่ง ทำให้ กทม.ได้แบ่งระดับอาการผู้ป่วย 3 สี 1.เขียว 2.เหลือง 3.แดง เพื่อนำส่งต่อระบบการรักษาพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง และ Hospitel 3 แห่ง รวมตัวเลขอัพเดทเมื่อวันที่ 5 พ.ค. พบว่ากรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ 1,478 ราย แบ่งเป็นระดับ “สีเขียว“ ที่มีอาการเล็กน้อย 1,241 ราย ระดับ “สีเหลือง“ 199 ราย และระดับ “สีแดง” 38 ราย ซึ่งกลุ่ม “เหลือง–แดง” จะถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาลหลัก
แต่จากตัวเลข “เตียงไอซียู“ กับกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ กทม.เร่งปรับพื้นที่สร้าง “ไอซียูสนาม” รองรับผู้ป่วยอาการหนักโดยปรับพื้นที่อาคารสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ หรือโรงพยาบาลเอราวัณ 3 ให้เป็น “ไอซียูสนาม“ แห่งแรกของไทย เพื่อรองรับผู้ป่วย 342 เตียง แบ่งเป็นเตียง “ไอซียู” ผู้ป่วยเหลือง 164 เตียง และผู้ป่วยเขียว 178 เตียง โดยมีแพทย์โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากการ 3 มาตรการ “แบ่งโซน“ ตรวจโควิดเชิงรุกในชุมนุม เพิ่ม Hospitel แห่งใหม่ หรือการปรับ “รพ.สนาม” เป็น “ไอซียูสนาม” แล้ว กทม.ยังได้ปรับแผนการ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่มีอยู่กว่า 600,000 เม็ด ใช้กับผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด โดยยกระดับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ไปถึงกลุ่มผู้ป่วย “สีเขียว“ เพื่อจำกัดวงไม่ให้ขยายไปสู่กลุ่มผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง–สีแดง“ โดยทุกขั้นตอนต้องอยู่ควบคุมของแพทย์
ไม่ใช่แค่นั้นแต่การฉีดวัคซีน AstraZeneca ของ กทม.ทั้งหมด 5 แสนโดส ได้ตั้งเป้าสิ้นปี 2564 ต้องฉีดครอบคลุมประชากรให้ได้ร้อยละ70 หรือประมาณ 5 ล้านคน โดย กทม.เตรียมสถานฉีดวัคซีน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง และโรงพยาบาลอื่นที่เข้าร่วม รวม 115 แห่ง
2.พื้นที่นอกโรงพยาบาล 14 แห่ง สำหรับประชาชนทั่วไปอายุ 18-59 ปีที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และจองรับวัคซีนมาแล้วผ่าน LINE Official Account V.2 “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งเป้าให้บริการ 20,500 คนต่อวันใน 6 กลุ่มโซน ดังนี้
กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 2 แห่ง 1.บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ ฉีดได้ วันละ 2,000 คน 2.ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว วันละ2,000 คน
กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 4 แห่ง 1.สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน วันละ 1,500 คน 2.ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง วันละ 1,000 คน 3.True Digital Park เขตพระโขนง วันละ 1,000 คน 4.เอเชียทีค เขตบางคอแหลม วันละ 2,000 คน
กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 แห่ง 1.เดอะมอลล์บางกะปิ วันละ 2,000 คน 2.โรบินสัน ลาดกระบัง วันละ 1,000 คน 3.โลตัส มีนบุรี วันละ1,000 คน
กรุงเขตกรุงธนเหนือ 2 แห่ง 1.เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย วันละ 1,000 คน 2.ไอคอนสยาม เขตคลองสาน วันละ 1,000 คน
กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3 แห่ง 1.สถานีบริการน้ำมัน ปตท.พระราม 2 เขตบางขุนเทียน วันละ 1,500 คน 2.เดอะมอลล์บางแค วันละ 2,000 คน 3.บิ๊กซี บางบอน วันละ 1,500 คน
จากสถานการณ์ระบาดระลอก 3 ที่ตลาดบางแค สถานบันเทิงทองหล่อ มาจนถึงชุมชนคลองเตย กำลังเป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานกทม.กำลังเร่งยกระดับมาตรการที่เคยปฏิบัติตามประกาศ กทม.ฉบับล่าสุดที่ 27 ต่อคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว และห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน
ขีดเส้นไปที่ทุกมาตรการ “เชิงรุก” เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดให้เร็วที่สุด ก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะถึงขีดจำกัดรับผู้ป่วยไว้ได้.