ยอดผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 2,310 ราย เสียชีวิต 43 ราย “ศบค.” จับตา 2 คลัสเตอร์ใหม่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ยกระดับคุมเข้มแคมป์ก่อสร้าง กทม.ส่ง “ตร.-สห.” เฝ้ากันเคลื่อนย้าย หวังลดยอดติดเชื้อใหม่ “ราชทัณฑ์” เผยแนวโน้มโควิดดีขึ้น ไม่พบแพร่ระบาด 129 เรือนจำ “สมุทรปราการ” ยังพุ่งต่อเนื่อง “บุรีรัมย์” สั่งปิดพื้นที่ 2 อำเภอ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,310 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,170 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,467 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 703 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 102 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 38 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 187,538 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 3,035 ราย หายป่วยสะสม 139,287 ราย อยู่ระหว่างรักษา 46,876 ราย อาการหนัก 1,295 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 359 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 43 ราย เป็นชาย 31 ราย หญิง 12 ราย อยู่ใน กทม. 27 ราย, สมุทรปราการ 5 ราย, นครปฐม 4 ราย, นครสวรรค์ 2 ราย, นนทบุรี ปทุมธานี สงขลา กาญจนบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุดคือ 25 ปี อายุมากที่สุด 91 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,375 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 788 ราย, ปทุมธานี 308 ราย, สมุทรปราการ 209 ราย, นนทบุรี 132 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 94 ราย โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขณะที่พื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง 70 คลัสเตอร์ แบ่งเป็นคลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วัน 60 คลัสเตอร์ พบผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วัน 10 คลัสเตอร์ ทั้งนี้ มี 5 คลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังก่อนหน้านี้ แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วันที่ผ่านมาคือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน และแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตวัฒนาและบางพลัด
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้นำข้อมูลการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อมาสรุปเป็น 11 พื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย ตลาดสด, สถานีขนส่งสาธารณะ, สถานบริการผับ บาร์, ที่ต่ออายุบัตรแรงงานต่างด้าว, หน่วยราชการด่านหน้า, โรงงาน สถานประกอบการ, ห้างสรรพสินค้า, สถานที่ดูแลผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง, โรงเรียน สถานศึกษา, ศาสนสถาน, ธนาคาร บริษัท สำนักงาน ซึ่งการคัดเลือกพื้นที่เฝ้าระวัง ได้มีกำหนดเกณฑ์ให้ทุกจังหวัด ทุกเขต ทั่วประเทศให้มีมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุก สุ่มตรวจอย่างน้อย 5 ประเภทจากทั้งหมด 11 ประเภทข้างต้น อย่างน้อย 125 ตัวอย่างต่อสองสัปดาห์
“กทม.ได้รายงานแผนการตรวจตลาด 486 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ กทม. ระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-9 มิ.ย. โดยตรวจไปแล้ว 379 แห่ง บางแห่งตรวจสองครั้ง มีตลาดที่ผ่านเกณฑ์ 289 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 90 แห่ง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่คือ ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รองลงมาคือ ไม่มีการควบคุมทางเข้า-ออก ไม่มีแอปพลิเคชันไทยชนะ ความสะอาดของตลาด การควบคุมจำนวนลูกค้า รวมถึงพบว่ายังมีการไม่สวมหน้ากาก จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังมาตรการส่วนบุคคล และขอให้ตลาดต่างๆ ให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล? นาคพาณิชย์? เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ? (สมช.)? ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19? (ศปก.ศบค.)? กล่าวถึงคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างว่า เราได้เริ่มมาตรการตั้งแต่วันเดียวกันนี้ โดยได้ขอกำลังจากหน่วยงานความมั่นคง?ทั้งตำรวจและทหารให้มาช่วยควบคุม เนื่องจากพบว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตามแคมป์คนงานต่างๆ ยังมีการเคลื่อนย้ายไปยังแคมป์คนงานอื่นๆ ทั้งที่มีการติดเชื้อในแคมป์ดังกล่าวแล้ว
ตร.-สห.คุมเข้มแคมป์ กทม.
“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงต้องใช้ความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการนำกำลังจากฝ่ายความมั่นคงไปช่วยกรุงเทพมหานครตามที่มีการร้องขอมา ประกอบกับคำแนะนำของ สธ.ที่ระบุให้เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานอยู่ไม่ได้เรียกว่าผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ แต่เขาอาจจะไม่เข้าใจ เพราะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อแค่บางส่วน จึงนำคนงานที่ยังไม่ติดเชื้อไปทำงานในแคมป์คนงานอื่น ทั้งนี้ เราเข้าใจดีว่าระบบงานก่อสร้าง แรงงานจะไม่ได้อยู่ประจำที่ ต้องมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานยังที่ต่างๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม? ใน กทม.มีแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่ง และหลายแห่งเป็นบริษัทเดียวกัน เป็นธรรมดาที่เขาจะหมุนเวียนแรงงานไปมา แต่ในระยะนี้เราจำเป็นต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเพื่อให้การติดเชื้อน้อยลง” เลขาฯ สมช.กล่าว
ด้าน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงจะเข้าไปดูแลในการควบคุมตั้งแต่การตั้งจุดตรวจ การตรวจสถานที่ต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันหลังจากมีการตรวจแคมป์คนงาน ที่เป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 และยังมีการเคลื่อนย้ายกันออกไป ทั้งนี้ ต้องไปดูว่า ศบค.ได้กำหนดแคมป์คนงานในแต่ละพื้นที่เอาไว้อย่างไร ซึ่งในแนวทางปฏิบัติหากมีกรณีเช่นนี้เราจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจแคมป์แรงงาน จะต้องได้รับการควบคุมแบบไหน การเข้า-ออก สามารถเล็ดลอดออกจากพื้นที่ได้หรือไม่ จำเป็นต้องมีเครื่องกีดขวางมากั้นช่องโหว่ที่ยังปิดไม่ได้หรือไม่ เช่น รั้วลวดหนาม โดยประสานกับผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบโดย 1.จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเข้า-ออก และพิจารณาเป็นกรณีไปหากจำเป็นต้องเข้า-ออก 2.ลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อให้ไม่ให้มีการลักลอบ
“ยืนยันจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่ทหารจะเป็นส่วนเสริม และใช้สารวัตรทหาร (สห.) ในการปฏิบัติงาน ยกเว้นกรณีมีแคมป์แรงงานหลายแห่งที่ต้องควบคุม จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแคมป์แรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเหล่าทัพใด ก็จะประสานเหล่าทัพนั้นส่งกำลังทหารไปดูแล” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าว
ที่กรมราชทัณฑ์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่จำนวน 102 ราย รักษาหายเพิ่ม 505 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 11,454 ราย โดยภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำและทัณฑสถานพบมีเรือนจำและทัณฑสถานที่ไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น 2 แห่ง รวมเป็นจำนวน 129 แห่ง ขณะที่ยังพบการแพร่ระบาด 12 แห่งคงเดิม และมียอดผู้ติดเชื้อที่หายป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดหายป่วยสะสมแล้ว 18,538 ราย หรือ 61% ของ ผู้ติดเชื้อสะสม 30,171 ราย และคาดว่าจะมีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีมากถึง 90% ของผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาทั้งหมด
จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 209 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 168 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 101 ราย, อำเภอพระประแดง จำนวน 20 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ 1 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 27 ราย, อำเภอบางบ่อ จำนวน 11 ราย, อำเภอบางเสาธง จำนวน 8 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ จำนวน 41 ราย เสียชีวิต 5 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 107 ราย การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 201,037 ราย พบเชื้อ 7,839 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบันจำนวน 9,729 ราย
บุรีรัมย์สั่งปิดพื้นที่ 2 อำเภอ
จ.ชลบุรี นายดงพล รุจิธรรมธัช นายอำเภอศรีราชา ประธานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอศรีราชา มอบสาธารณสุขอำเภอศรีราชาออกคัดกรองเชิงรุกผู้มีความเสี่ยงโควิดแรงงานต่างด้าวตลาดเกษตรรวมใจ (ตลาดบ้านทุ่ง) ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังพบผู้ติดเชื้อในละแวกตลาดแห่งนี้เป็นจำนวน 29 ราย จึงมีคำสั่งให้ปิดตลาดเป็นเวลา 3 วัน โดยตรวจผู้ที่อาศัย ทำงานและกลุ่มแคมป์คนงานในละแวกใกล้เคียงตลาดเข้าทำการกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ใกล้ชิดเข้าตรวจหาโรคมากกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวน 81 ราย
จ.ชัยนาท นพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท รายงานว่า จากคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่สระบุรี ทำให้ จ.ชัยนาทพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 1 ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ 99 ของจังหวัด เป็นหญิง อายุ 44 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.บางขุด อ.สรรคบุรี และเป็นภรรยาของคนขับรถโรงงานดังกล่าว ที่เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 98 ของชัยนาท รวมจำนวนผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่สระบุรี ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ขณะนี้มีทั้งหมดแล้ว 5 ราย นอกจากนี้มีผู้ป่วยรายที่ 92 เป็นชายอายุ 83 ปี อาศัยอยู่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.64 ได้เสียชีวิตลง 1 ราย
จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 12 ราย ได้แก่ อ.ห้วยราช 5 ราย, อ.ประโคนชัย 4 ราย, อ.ลำปลายมาศ 2 ราย และ อ.สตึก 1 ราย ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-ปัจจุบัน มียอดป่วยสะสมจำนวน 221 ราย เสียชีวิต 3 ราย รักษาหายแล้ว 189 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล 29 ราย ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคมีทั้งหมด 466 ราย เป็นรายใหม่ 8 ราย และรายเก่า 458 ราย ส่วนการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดง มีจำนวน 17,165 ราย กระจายใน 23 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยกักตัวอยู่ที่บ้าน
นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดจังหวัดบุรีรัมย์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้ป่วยเพิ่ม 12 ราย โดยมีกลุ่มก้อนการระบาดที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่อำเภอประโคนชัยและพื้นที่อำเภอห้วยราช ดังนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จึงมีคำสั่ง 1.ห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากพื้นที่บริเวณคุ้มตะเปียงกะดอล บ้านกระโดน หมู่ที่ 9 ตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และในพื้นที่คุ้ม 3 คุ้ม 4 และคุ้ม 5 บ้านสะแกสามัคคี หมู่ที่ 4 ตำบลสามแวง อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 10-23 มิ.ย. 2.ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ มีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 13 ราย แบ่งเป็น อ.ปากช่อง 4 ราย, เมืองฯ 8 ราย, สูงเนิน 1 ราย ทำให้ผู้ป่วยแล้ว 30 อำเภอ รวมผู้ป่วยสะสม 973 ราย รักษาหายเพิ่ม 5 ราย รวมหายป่วยสะสม 885 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 13 ราย คงเหลือรักษาตัว 75 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยใหม่วันนี้มาจากคลัสเตอร์ครอบครัว ต.หนองจะบก อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา
จ.อำนาจเจริญ พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 13 ราย จาก 3 พื้นที่คือ พื้นที่อำเภอเมืองฯ 7 ราย, อำเภอร่อนพิบูลย์ 2 ราย และอำเภอทุ่งใหญ่ 4 ราย ส่งผลให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในพื้นที่แล้วทั้งสิ้น 948 ราย อยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 123 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้านแล้วจำนวนทั้งสิ้น 808 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 17 ราย.