13 มิถุนายน 2564 เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน เมื่อเวลา 11.30 น. (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) พบ ผู้ป่วยรายใหม่ 2,804 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,567 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 767 ราย จากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 409 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 61 ราย ขณะที่ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 167,046 ราย หายป่วยแล้ว 126,988 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 18 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,355 ราย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีน โควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 6,081,242 โดส โดยวันที่ 12 มิถุนายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 66,037 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 42,167 ราย
ล่าสุด ชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกต โกลาหล วัคซีน โควิด-19 กรุงเทพฯ ไม่พอ คนรับผิดชอบไม่ใช่ สธ. นะ ความจริงการจัดสรรวัคซีนขณะนี้เป็นหน้าที่ ศบค. และการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยมีตัวนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจมานั่ง ผอ.ศูนย์ฯ เสียเอง ไม่มีชื่อรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งในทีมเลย ไม่มีแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ อันนี้ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับ รมต.อนุทิน ซึ่งในยามที่เรือใกล้แตก การเอาตัวรอดก็ย่อมปรากฏ เรื่องอะไรจะปล่อยให้โดนรุมสกรัมผิดคน นั่นคือบทสรุปของปรากฏการณ์ในครั้งนี้
ชมรมแพทย์ชนบท ระบุ ดูเหมือนวันที่ 14 มิถุนายน นี้ การฉีดวัคซีน โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะโกลาหลที่สุด มีการประกาศเลื่อนการฉีดเพราะไม่มีการส่งวัคซีนมาให้ จนมีการประกาศออกสื่อจากโรงพยาบาลหนึ่งให้ไปสอบถามจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะมีการแก้ไขให้สุภาพขึ้น ในความเป็นจริงก็ต้องบอกว่า การจัดสรรวัคซีนใน กทม. ไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข
การจัดสรรวัคซีนในขณะนี้ เป็นหน้าที่ ศบค. คือ นายกฯ ประยุทธ์ และ เลขา สมช. มานานแล้ว ตั้งแต่ที่นายกฯ แต่งตั้งเองเป็นประธาน ศบค. ดังนั้น การตัดสินใจสุดท้ายว่าจะจัดสรรอย่างไร จะจัดแบ่งโควตากันอย่างไร สธ. ไม่ใช่คนตัดสินใจ เมื่อ ศบค. ตัดสินใจแล้ว ก็สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขให้จัดส่งวัคซีนกระจายต่อไปโรงพยาบาลต่างๆ ตามโผ
ในส่วนของ กทม. คนที่จัดสรรโควตาให้ กทม. ก็คือ ศบค. อีกเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขยิ่งไม่เกี่ยว เป็นเรื่องภายในของ ศบค. และ กทม. รวมถึงโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่ตั้งใน กทม. ต้องหารือกันเองว่าจะกระจายอย่างไร และตามยอดจัดสรรรอบที่แล้ว ศบค. มีมติจัดวัคซีนมิถุนายนให้ กทม. 1 ล้านโดส ซึ่ง สธ. ก็ส่งให้ 5 แสนโดส ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จึงได้ฉีดกันอย่างกว้างขวาง มีความสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ (ซึ่งปัจจุบันคงฉีดจนใกล้จะหมดแล้ว ส่วนอีก 5 แสนโดส ยังต้องรอเพราะยังไม่มีวัคซีนจะให้)
นี่คือสารที่ รมต.อนุทิน ได้สื่อสารในวันนี้ มายังผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณชน เพื่อความเข้าใจร่วมกัน
จริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น จากการประชุม ศบค. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้นัดประชุมนัดพิเศษเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เข้ามาหารืออย่างเร่งด่วน และมีมติตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยมีตัวนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจมานั่ง ผอ.ศูนย์ฯ เสียเอง โดยไม่มีชื่อรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งในทีมเลย ไม่มีแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ
อันนี้ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับ รมต.อนุทิน ด้วย เพราะนายกฯ ประยุทธ์ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาควบคุม โควิด-19 ใน กทม. ไปแล้ว
การกระจายวัคซีน โควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ตรงกลุ่มที่ควรจะได้ เช่น ไทยร่วมใจมาแรงแซงคิวผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังนั้น ก็ต้องไปวิพากษ์ให้ถูกคน นั่นคือ วิพากษ์นายกฯ ประยุทธ์ นั่นเอง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ รมต.อนุทิน
“ในยามที่เรือใกล้แตก การเอาตัวรอดก็ย่อมปรากฏ เรื่องอะไรจะปล่อยให้โดนรุมสกรัมผิดคน วัคซีน โควิด-19 กรุงเทพฯ ไม่พอ กระทรวงสาธารณสุขไม่เกี่ยวนะ คนที่ต้องรับผิดชอบ คือ นายกฯ ประยุทธ์ เต็มๆ กรุณาวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาให้ถูกคนด้วย นั่นคือบทสรุปของปรากฏการณ์ในครั้งนี้”