แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขที่แท้จริง เวลานี้เหลือเตียง…สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เท่าไรกันแน่
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผย ว่า รพ.ในพื้นที่ กทม. มีการเพิ่มเตียงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกส่วนในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. ทำหน้าที่กันอย่างตึงมือ แต่ก็มีการเจ้าหน้าที่จากจิตอาสา และผู้ที่เกษียณไปแล้วมาช่วยงานด้วย
ยืนยันว่าทุกภาคส่วนต่างช่วยกันอย่างเต็มที่ในสถานการณ์วิกฤตินี้ และยังบริหารจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
สำหรับ สถานการณ์เตียงโรงพยาบาลของรัฐ ในกรุงเทพฯ จากข้อมูลของ กทม. ระบุว่า
ผู้ป่วยระดับสีเขียว
มีเตียงทั้งหมด 5,798 เตียง มีเตียงว่าง 1,417 เตียง แบ่งเป็น รพ.สนาม 645 เตียง Hospitel 772 เตียง
ผู้ป่วยระดับสีเหลือง (รพ.บุษราคัม)
มีเตียงทั้งหมด 5,120 เตียง มีเตียงว่าง 1,153 เตียง แบ่งเป็น Cohort ward 1,095 เตียง Isolated room 58 เตียง
ผู้ป่วยระดับสีแดง
มีเตียงทั้งหมด 446 เตียง มีเตียงว่าง 23 เตียง แบ่งเป็น
Cohort ICU 6 เตียง
Modified AIIR 9 เตียง
AIIR 1 8 เตียง
ส่วนเตียงของ รพ.เอกชน ในระดับสีเขียว มีจำนวนเตียงทั้งหมด 11,004 เตียง มีเตียงว่าง 2,840 เตียง แบ่งเป็น รพ.สนาม 78 เตียง Hospitel 2,762 เตียง
สีเหลือง มีจำนวนเตียงทั้งหมด 7,183 เตียง มีเตียงว่าง 807 เตียง แบ่งเป็น Cohort ward 299 เตียง Isolated room 508 เตียง
สีแดง มีจำนวนเตียงทั้งหมด 937 เตียง มีเตียงว่างรวม 108 เตียง แบ่งเป็น Cohort ICU 27 เตียง
Modified AIIR 48 เตียง
AIIR 33 เตียง
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า เวลานี้เตียงผู้ป่วยเหลือน้อย เราจึงได้แก้ปัญหาอยู่ ซึ่งจากการหารือทำให้เราได้เตียงผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้นอีก 50 เตียง กระจายอยู่ที่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิระ
แต่ปัญหาในเวลานี้ คือบุคลากรทางการแพทย์ คือ เริ่มตึงมือและรับมือไม่ไหวกันแล้ว ถึงแม้จะได้เตียงเพิ่ม แต่ก็ไม่มีหมอมาดูแล
ฉะนั้น เราจึงมีแนวคิดว่า จะให้หมอที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว และมาเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งจะจบในวันที่ 1 กรกฎาคม มาช่วยงานในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งมีหมอกว่า 100 คน โดยเราจะให้หมอเหล่านี้มาช่วย ก่อนจะกลับไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด
“แม้จะมีเตียงผู้ป่วยวิกฤติเพิ่ม 50 เตียง แต่หมอต้องอยู่ 3 เวร (วันละ 8 ชั่วโมง) ซึ่งคาดว่าต้องใช้หมอเป็น 100 คน นอกจากนี้ เราต้องใช้พยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้วย โดยอาจจะขอพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยมาช่วยในกรุงเทพฯ”
เมื่อถามว่า เราใช้หมอที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ กี่คน นพ.สมศักดิ์ ถึงกับอุทานว่า “โอ้โห..มันตอบยาก เพราะไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน แต่ถ้าเป็นตัวเลขอัตราส่วนต่อเตียง แบบนี้บอกได้คือ
เมื่อต้นเดือนเมษายน มีผู้ป่วยโควิด-19 เรามีเตียงระดับสีแดง ประมาณกว่า 200 คน (เฉพาะ รพ.รัฐ) แต่เวลานี้ ณ เดือนมิถุนายน เรามีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักมากกว่า 400 คน แต่ก็มีหมอเท่าเดิม รองคิดดูว่าสภาพหมอจะเป็นแบบไหน
ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก 1 คน : ต้องใช้หมอ 3-4 คน
ประกอบด้วย
1.หมอเวชบำบัดวิกฤติ (Critical care)
2.หมอโรคปอด
3.หมอที่ดูแลการติดเชื้อ
หมอทั้ง 3 คนนี้ คือดูอาการผู้ป่วยโควิดแน่ๆ แต่…ถ้ามีอาการแทรกซ้อนเพิ่มเติมอย่าง เช่น มีอาการไตวาย ก็อาจจะต้องใช้หมอโรคไต หรือ หมออายุรศาสตร์แขนงอื่นๆ มาช่วย นอกจากนี้ หมอทุกคนก็ต้องเวียนการเข้าเวรมาช่วย
ส่วนพยาบาล ถ้าคิดง่ายๆ คือ 1 เตียง 1 คนต่อวัน ก็จะต้องใช้ 3 คน (วันละ 8 ชั่วโมง) ซึ่งโดยเฉลี่ยก็คือ 3-4 คนต่อ 1 เตียง (ทั้งวัน)
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป คือมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 3,000-4,000 คน จะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขถึงกับล่มไหม นพ.สมศักดิ์ บอกว่า อย่าเรียกแบบนั้นเลย…
“ไม่ถึงกับล่มหรอกครับ เพราะเรากำลังปรับแผนกันอยู่ อย่างเวลานี้ เราสามารถเพิ่มเตียงไอซียูแล้วอีก 50 เตียง
นอกจากนี้ เมื่อเช้าเราก็หารือกับทาง กทม. เราก็พยายามเพิ่มเตียงในระดับสีเหลืองและแดง ให้มากขึ้น”
ในขณะที่เตียงโรงพยาบาลระดับสีเหลือง ก็เริ่มเต็มแล้ว (รพ.บุษราคัม จาก 5,120 เตียง ว่าง 1,153 เตียง)
จึงมีการปรับให้ รพ.บางขุนเทียน กับ รพ.ราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็น รพ.สนามเดิม ที่รับผู้ป่วยในระดับสีเขียว แล้วย้ายไปที่ Hospitel ส่วน รพ.สนามเดิม ก็รับผู้ป่วยระดับสีเหลืองมารักษา และอาจจะต้องระดมหมอจากต่างจังหวัดมาเพิ่ม
หรืออีกส่วนที่เตรียมไว้… และเวลานี้ยังเป็น “แนวคิด” คือ แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมกับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ซึ่งตรงนี้กรมการแพทย์ฯ เคยทดลองไปแล้ว สำหรับบางคนที่ไม่ยอมรักษาตัวที่ รพ. ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่หลักสิบราย ซึ่งก็มีการแจกอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ ที่วัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด และมีการวิดีโอคอล คุยกับหมอวันละ 2 ครั้ง.. เราทดลองทำก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็จะช่วยในการลดอัตราส่วน Hospitel
ทั้งนี้ หมอสมศักดิ์ได้ฝากไปถึง รพ.เอกชนว่า ไม่อยากให้เลือกเคส ซึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อก่อนเขาอาจจะเลือกเคส อยากได้เคสไม่หนัก อยู่ รพ.ไม่กี่วัน
“ช่วงนี้อยากจะขอว่า ให้ช่วยรับเคสให้เห็นแก่คนไข้เป็นหลักด้วย”
ถ้าตัวเลขผู้ป่วยมากกว่านี้ เช่น วันละเป็นหมื่น เราอาจจะต้องคิดถึงเรื่อง home isolation เพื่อแยกคนที่อาการดีๆ ออกมา
มันถึงเวลาล็อกดาวน์หรือยัง… นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าถามฝั่งหมอ หมอก็ย่อมเชียร์ให้ “ล็อกดาวน์” แต่ถ้าถามฝั่งเศรษฐกิจ เขาก็คงไม่เห็นด้วย เพราะการ “ล็อกดาวน์” จะช่วยลดจำนวนคนไข้ได้จริง
แต่…ถ้ารัฐไม่ “ล็อกดาวน์” ก็อยากให้ล็อกดาวน์ตัวเอง คือ เราต้องดูแลตัวเองดีๆ แต่ถ้ามีระบบทางสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้ คนก็จะติดเชื้อน้อยลง ความต้องการเตียงไอซียูก็น้อยลง นี่คือสิ่งที่ภาคการแพทย์อยากเห็น
“เพราะเวลานี้บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยกันมาก เป็นลมแล้วเป็นลมอีก นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกันอีก แต่ส่วนหนึ่งที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว และติด ส่วนใหญ่จึงไม่มีอาการอะไรมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวไป ถึงเวลาหรือยัง ที่เราอาจจะต้องพิจารณาการ “ล็อกดาวน์” กทม. อีกครั้ง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
หากเราพิจารณาตัวเลขจำนวนเตียงในระดับสีแดง และสีเหลือง ดีๆ เราจะเห็นว่า เวลานี้บุคลากรทางการแพทย์กำลังทำงานที่เกือบจะสุดความสามารถแล้ว
หากยังนึกภาพไม่ออก หนทางหนึ่งที่ “เตียงสีแดง” จะว่าง ก็คืออาจจะมีผู้ป่วยเสียชีวิต
ในขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับ “สีเหลือง” ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นสีแดงได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยสีเขียวอาจจะกลายเป็น “สีเหลือง” ได้ ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับสีเหลือง คือ ปัจจัยสำคัญ และจำเป็นต้องเหลือเตียงมากที่สุด เพราะผู้ป่วยสีแดงหากดีขึ้นก็จะกลับมาอยู่ที่สีเหลืองได้ด้วย
ในขณะที่โรงพยาบาลบางแห่ง ก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้แล้ว ที่สำคัญ การขยายเตียงเพิ่มขึ้น อาจจะทำได้ แต่…หมอพยาบาลก็มีเท่าเดิม
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
สู้โควิด ดั่งอริศัตรู “เวียดนาม” ยกระดับ งัดกลยุทธ์การทูตเร่งหาวัคซีน
เมื่อ K-Pop รุกล้ำเกาหลีเหนือ ย้อนสู่ 3 ปีก่อนที่ผู้นำเปิดบ้านต้อนรับ
กล้าม…ไม่ใช่ถั่วงอก ปิดฟิตเนส สะเทือนถึงเหรียญทอง กีฬา “เพาะกาย”
โควิดทำพิษ! Work from Home ยาว เงินตึงมือ สะเทือน “ออฟฟิศให้เช่า”
กลุ่มธุรกิจฟิตเนสน้ำตาตกใน ส่อเจ๊ง 50% วอนช่วย “พวกเรากำลังจมน้ำ”