6 ส.ค.64 – ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว ข้อปฏิบัติฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด ปลอดโรค ปลอดภัย
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับเตาเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 มีลักษณะชำรุดแตกร้าวจากการใช้งาน ประชาชนกังวลเรื่องการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน นั้น ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัย ได้ส่งทีมวิศวกรทางการแพทย์และวิศวกรอาสา ลงพื้นที่สำรวจเตาเผาศพในวัดที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งมีทั้งหมด 189 วัด ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 31 วัด จากการตรวจสอบระบบและโครงสร้างเตาเผา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางวัด พบว่า เตาเผาศพมีมาตรฐาน ไม่มีการแพร่เชื้อโควิด ส่วนรอยร้าวที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการใช้งานอย่างหนัก เกินศักยภาพที่ส่วนใหญ่เผาศพได้ 2-4 ศพต่อวัน ความสามารถและเวลาในการเผาขึ้นอยู่กับชนิดของเตา อายุการใช้งาน และร่างของผู้เสียชีวิต
“ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนา วัดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 92 แห่ง เผาศพไปแล้ว 3,067 ศพ วัดในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 42 แห่ง เผาศพไปแล้ว 1,067 ศพ และวัดจังหวัดปทุมธานี จำนวน 55 แห่ง เผาศพไปแล้ว 222 ศพ พบว่ารองรับการจัดการศพในสภาวะวิกฤตนี้ได้ถึง 2 เท่า ขอให้ความมั่นใจว่าเตาเผาศพที่ได้ไปตรวจสอบมีมาตรฐานและระบบรองรับ มีความปลอดภัยกับชุมชนโดยรอบ แต่การดำเนินจัดการเผาศพผู้ติดเชื้อต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง” นายแพทย์ธเรศกล่าว
นอกจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำระบบ GIS รวบรวมข้อมูลรายชื่อวัดที่รับฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด19 ฟรี สำหรับประชาชน สถานพยาบาล หน่วยกู้ภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถค้นหาวัดที่อยู่ใกล้ และสถานที่ตั้ง เพื่อการกระจายไปฌาปนกิจยังวัดต่างๆ ลดโหลดการใช้งานเตาเผาให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ดาวน์โหลดระบบ GIS ได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัย สำหรับวัดที่มีปัญหาเกี่ยวกับเตาเผาศพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้รวบรวมข้อมูลบริษัทผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพไว้เพื่อสะดวกในการติดต่อสอบถาม
ด้านนายแพทย์ดนัย กล่าวว่า การจัดการศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ กรมอนามัยได้จัดทำ 3 แนวทาง ดังนี้ 1) ยืนยันสาเหตุการตาย โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เสียชีวิตในโรงพยาบาล จะดำเนินการโดยทีมจัดการศพ โดยศพผู้เสียชีวิตจะถูกบรรจุใส่ถุงบรรจุศพ 2 ชั้น และทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอกถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน ส่วนกรณีที่ 2 เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ทีมจัดการศพจะนำศพใส่ถุงบรรจุศพ 2 ชั้นตามมาตรฐาน และแจ้งพนักงานสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อของโรงพยาบาล 2) แจ้งตายตามขั้นตอน และออกใบมรณบัตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อนำไปฌาปนกิจ และ 3) การขนศพผู้เสียชีวิตและการประกอบพิธีทางศาสนา กรณีญาติมีความพร้อม หลังจากที่ญาติรับทราบแนวปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมีใบมรณบัตร สามารถประสานวัดและอาสาสมัคร หรือกู้ภัย หรือมูลนิธิ เพื่อขนศพ แต่หากญาติไม่มีความพร้อมหรือติดโควิดทั้งครอบครัว และศพไม่มีญาติ ให้แจ้งโรงพยาบาลเพื่อประสานกับทางวัดเพื่อดำเนินการขนศพ
นายแพทย์ดนัย เพิ่มเติมว่า การจัดพิธีศพทางศาสนา ทั้งการเผาศพหรือฝังศพทั้งถุง ขอให้ดำเนินการในพื้นที่ที่จัดเตรียมเฉพาะ ห้ามเปิดถุงบรรจุศพอย่างเด็ดขาด ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้ใช้เตาเผาศพเท่านั้น หลีกเลี่ยงการเผากลางแจ้ง และควรใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพไม่น้อยกว่า 760 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในห้องควันไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียสตลอดระยะเวลาการเผาศพ ซึ่งควันที่ลอยจากปล่องจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ และระหว่างการเผาศพไม่ควรเปิดประตูเตาเผาศพ หลีกเลี่ยงการเขี่ยหรือพลิกศพ และไม่ควรนำสิ่งของอื่นๆ เข้าเตาเผาเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการทำงานของเตาเผา และอาจเกิดสารตกค้างอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้วถือได้ว่าเชื้อโรคถูกเผาทำลายไปหมดแล้ว สามารถเก็บกระดูกเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลได้ ส่วนพระสงฆ์ที่ประกอบพิธี และผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้สัมผัสกับศพโดยตรง ไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE และผู้ร่วมพิธีต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากอาจสัมผัสเชื้อจากบุคคลอื่นหรือจุดสัมผัสร่วมได้ ภายหลังเสร็จพิธีเผาศพเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที