“การแบ่งพระราชมรดก ของรัชกาลที่ 7 ใช้เวลา 3 วัน เฉพาะที่ดินหลังวังศุโขทัย กับใจกลางเมือง 22 แปลงใช้เวลา ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็จบสิ้น…แต่การขายวังบูรพาภิรมย์ ราคา 10 ล้าน ในกองมรดกเจ้าฟ้าภานุรังษี ใช้เวลากว่า 4 ปี”
คือคำบันทึกของ คุณหญิงมณี สิริวรสาร อดีตสะใภ้หลวง หรือ “หม่อมมณี” ซึ่งเป็นหม่อมใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต องค์ต้นราชสกุล ศักดิ์เดช ภานุพันธ์ พระราชโอรสบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเป็นหม่อมใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
“หม่อมมณี” บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไว้ในหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” ตอนหนึ่งว่า….เป็นไปตามกฏหมายไทย คือแบ่งกันคนละครึ่ง ภาคลูกและภาคเมีย ซึ่งผู้ที่ได้รับ 2 ราย คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 กับหม่อมมณี ผู้แทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ในฐานะที่เป็นหม่อมในพระราชโอรสบุญธรรม ของรัชกาลที่ 7
การจับฉลากส่วนแบ่งที่ดิน เกิดขึ้นที่วังศุโขทัย โดยมีการนำสลากโฉนดที่ดิน ใส่ไว้ในพานทอง และสลับกันจับระหว่างพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับหม่อมมณี ที่ดินที่ต้องจับฉลากมี 22 แปลง แต่เหลือ 20 แปลง เพราะ 2 แปลงที่อยู่ด้านหลังวังศุโขทัย พระนางเจ้ารำไพพรรณี ไม่ประสงค์ให้จับฉลาก จึงมีการแลกเปลี่ยนกับหม่อมมณี เป็นที่ดิน 10 ไร่ ที่ถนนเพลินจิต
ส่วนอีก 20 แปลง ม.จ.อุปลีสาน ชุมพล ผู้จัดการผลประโยชน์และผู้จัดการพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 7 นำสลากที่เตรียมไว้ ถวายให้พระนางเจ้ารำไพรรณีทรงจับก่อน 10 ครั้ง เมื่อทรงจับแล้วสลากที่เหลือเป็นของหม่อมมณี
ส่วนของพระนางเจ้ารำไพพรรณี เช่น โฉนดที่ดินที่ราคาแพงที่สุด เป็นโฉนดที่ดินที่ถนนทรงวาด ตำบลราชวงศ์ ประมาณ 3 ไร่ ,ที่ดินที่คลองหลอด 10 ไร่ ติดกับโรงเรียนราชินี, ตึกใหญ่ที่ถนนเพชรบุรี
ส่วนของหม่อมมณี ได้ที่ดินคู่กับถนนทรงวาด 7 ไร่ ด้านที่เป็นโรงสีและตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ,ตึกแถวที่คลองหลอด 10 ไร่ ด้านที่ติดกับบ้านหม้อ, ตึกใหญ่ที่ถนนพญาไท (บ้านพระยาคธาธร) 1 ไร่ครึ่ง (ซึ่งมีผู้มาจำนองไว้กับกับพระปกเกล้าฯ)
และที่เหลือเป็นที่ดินเป็นที่ดินในพระนคร ก็ถูกจัดแบ่ง ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
ส่วนสังหาริมทรัพย์เครื่องเรือน ถ้วยชาม เครื่องแก้ว พระพุทธรูป เครื่องประดับในวัง เช่นกระถางต้นไม้ จิปาถะ ถูกพ่อค้าจีนจากบ้านหม้อตีราคาประมูล และนำเงินสดแบ่งให้สัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ในส่วนหลังนี้ ใช้เวลา 3 วัน
ที่ดินส่วนของ “หม่อมมณี” ปัจจุบันส่วนหนึ่งคือ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ และโรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ย่านราชประสงค์ บริหารโดย ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิ์เดช ภานุพันธ์ ทายาทของหม่อมมณี และพระองค์เจ้าจิระศักดิ์ฯ
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการปรับตัวของเจ้านาย ประกอบอาชีพทำธุรกิจกันมากขึ้น ตามบทความของ วีระยุทธ ปีสาลี เรื่อง แม่ค้าศักดินา : การปรับตัวสู่การประกอบอาชีพของเจ้านายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตอนหนึ่งระบุถึง พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารไทยในอังกฤษ พระองค์แรก ชื่อ Siam Rice หรือร้าน “ข้าวไทย”
“เมื่อครั้งที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงดำเนินกิจการขายอาหาร และต่อมาทรงเปิดร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษขึ้นเป็นร้านแรกและร้านเดียวในทวีปยุโรปขณะนั้น หลายคนเรียกพระองค์ว่าทรงเป็น ‘แม่ค้าศักดินา’ เนื่องจากทรงเป็นทั้งเจ้านายและแม่ค้าในเวลาเดียวกัน”
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หม่อมเจ้าหญิงมาตรยาตรกัญญา ดิศกุล ก็ได้ทำงานเป็นพนักงงานออฟฟิศ ที่สภากาชาดไทย เป็นเลขานุการของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นับเป็นเจ้านายฝ่ายหญิงที่ออกมาทำงานนอกวังเป็นพระองค์แรก ๆ และหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล หรือท่านหญิงเป้า ทรงขายขนมเค้ก ในแบรนด์ “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า”
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎร มีนโยบายลดเงินปีเลี้ยงชีพของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายผู้หญิงทุกพระองค์ล้วนได้รับผลกระทบ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงปรารภว่า “ฉันได้ถูกลดเงินปีลงเงินเดือนถึงบาทละสลึงเต็มที เศรษฐกิจก็ตกต่ำ ก็มาคิดตัดรายการจ่ายกับหญิงแต๋วในบ้านที่ใช้อยู่เท่าไรก็ไม่สำเร็จ ตั้งเดือนกว่า นั่งคิดอยู่ทุกวัน จะให้พอกับรายได้ แล้วในงวดหนึ่งฉันต้องเติมเงินอีก 10,000 บาท…รายได้ทางนี้ตกต่ำตั้งครึ่ง ดอกเบี้ยก็ติดนุงนัง ติดตั้ง 40,000 บาท เวลานี้ไม่มีใครให้กู้ยืมทั้งหมด การค้าขายทรุดโทรม วิ่งจำนองก็ไม่มีใครรับ ตั้งแต่ก่อนเกิดการแล้ว”
นอกจากเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้านายได้รับผลกระทบ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐได้ตัดลดเงินปีให้กับเจ้านายลง หลังเกิดเหตุการณ์ กบฏบวรเดช พ.ศ.2476 มีเจ้านายหลายพระองค์ไปประทับในต่างประเทศ คณะรัฐมนตรียังมีมติให้ตัดเงินปีของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไปประทับอยู่ต่างประเทศเกิน 6 เดือนโดยไม่มีเหตุอันควร ทำให้มีเจ้านายผู้หญิง 16 พระองค์ถูกตัดเงินปี รวมไปถึงเจ้านายผู้หญิงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล
ใน “บันทึกท่านหญิง” กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ วรวรรณ ทรงตกอยู่ในปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง จากการติดนิสัยใช้จ่ายที่หรูหราฟุ่มเฟือย ถึงกับต้องขายของและเครื่องประดับที่มีอยู่ เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อครั้งเสด็จกลับมาประทับในเมืองไทย เป็นการถาวร พ.ศ.2490 ทรงได้รับเงินปีพระราชทานปีละ 60,000 บาท จากเดิมที่เคยได้รับร่วมกับพระปกเกล้าฯ ปีละ 3 ล้านบาท ตามพระราชบันทึกทรงเล่า กับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ทรงยอมรับว่า “ต้องขายของเก่ากินไปบ้าง เป็นธรรมดา”
ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ช่วงหลัง 2475 ทำให้พระทายาทจำเป็นต้องขายวังหลายแห่ง อาทิ วังบูรพาภิรมย์ กลายเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทย วังลดาวัลย์ วังราชบุรี วังสะพานขาว วังบ้านดอกไม้ และวังแพร่งนรา เป็นต้น
ในทศวรรษที่ 2490 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงดำเนินกิจการ “สวนบ้านแก้ว” ที่ จันทบุรี ทรงพัฒนาทอเสื่อจันทบูร และวัสดุเครื่องใช้ ที่ทำด้วยเสื่อพระราชทาน เช่น กระเป๋าถือสตรี ถาด ที่รองแก้ว ที่ใส่กระดาษเช็ดปาก ถูกเรียกภายใต้แบรนด์ “ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จฯ”
ปัจจุบันราชสกุลต่าง ๆ เข้าสู่วงการธุรกิจ และทำการค้าเชิงพาณิชย์ อาทิ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หลังจากเกษียณราชการแล้ว ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้านอาหาร Orangery และ Lemongery ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้านเสื้อผ้า , ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทายาทราชสกุลยุคล ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย เช่น บริษัทผลิตภาพยนตร์ , บริษัทโฆษณา บริษัทโปรดักชันเฮาส์ ,แบรนด์เสื้อผ้าฟลามิงโก้ รวมทั้งกิจการอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
“แม่ค้าศักดินา สะท้อนสถานะและบทบาทเจ้านายผู้หญิง ที่ปรับเปลี่ยนในโลกยุคใหม่…อาชีพค้าขายจึงไม่ได้ทำให้เจ้านายเสื่อมเสียพระเกียรติแห่งพระราชวงศ์อีกต่อไป” วีระยุทธ ปีสาลี กล่าวไว้ในบทสรุป
*ข้อมูลบางส่วนจาก บทความเรื่อง แม่ค้าศักดินา : การปรับตัวสู่การประกอบอาชีพของเจ้านายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยวีระยุทธ ปีสาลี ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2558
*หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” คุณหญิงมณี สิริวรสาร