“รองนายกฯ ประวิตร” ไม่นิ่งนอนใจลุยลงพื้นที่แก้ปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำประปา กทม.เค็มตั้งแต่ต้นน้ำ พร้อมวางแผนรับมือน้ำทะเลหนุนสูงเดือน มี.ค.นี้
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ได้ไปเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม ในแม่น้ำเจ้าพระยาและบางปะกง มี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบดีกรมชลประทาน ผู้ว่าการการประปานครหลวงและคณะเข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 1 เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นลงพื้นที่บริเวณเขื่อนพระรามหก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำด้วย
“วันนี้ มาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและรับทราบมาตรการบริหารจัดการน้ำช่วยควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและบางปะกงของหน่วยที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องรัฐบาลให้ความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก วันนี้ได้รับฟังรายงานของ กอนช. พบว่า ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเกินเกณฑ์มาตรฐานการผลิตน้ำประปา ส่งผลกระทบกับการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ กอนช.ได้บูรณาการความร่วมมือกันจนทำให้สามารถแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างดี” พล.อ.ประวิตร กล่าว
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ช่วงเดือน มี.ค.นี้ จะยังมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีก 2 ครั้ง ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ช่วงวันที่ 9-12 มี.ค. และ 26-28 มี.ค.2564 วันนี้ได้มอบหมายกรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวงบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องสถานการณ์โดยต้องควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกินเกณฑ์คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร มีการกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนและให้ประเมินน้ำต้นทุนพร้อมวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เพียงพอสำหรับต้นฤดูฝน ส่วนการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ให้ใช้เท่าที่จำเป็น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำสายสำคัญระยะเร่งด่วน กอนช.ได้กำหนดมาตรการ ดังนี้ 1. แม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยาที่ไม่กระทบปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝนและการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองไม่เกิน 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) รวมทั้งควบคุมการสูญเสียน้ำระหว่างทางและการควบคุมการระบายน้ำเสีย
2. แม่น้ำท่าจีน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง บริเวณจุดต้นคลองจินดาเพื่อผลักดันน้ำที่เพิ่มเข้ามา ผ่านคลอง 6,7 และ 8ข-5ซ ลงคลองระบายท่าผา คลองบางแก้วและคลองตาปลั่ง ตามลำดับ การส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อเจือจางค่าความเค็มในคลอง และเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง และคลองท่าสาร-บางปลา ลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างเพื่อผลักดันน้ำเค็ม
3. แม่น้ำบางปะกง มีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ในลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำพระสะทึง จ.สระแก้ว.