เมื่อพูดถึงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์นั้น ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่ประชุม คจร.ได้เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 162 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางของ ขสมก. จำนวน 108 เส้นทาง และเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทาง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรองรับการขยายตัวของเมือง และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นตามความจำเป็นในอนาคต
แม้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.จะยังไม่ผ่านความเห็นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากงานที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาแผนอย่างละเอียดรอบครอบ ทำให้การดำเนินงานไม่ง่ายอย่างที่ควรจะเป็นไป แม้แต่หน่วยงานสำคัญที่ต้องกลั่นกรอง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องออกตัวว่าสภาพัฒน์ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. ไม่ได้คัดค้าน เวลานี้หากแผนพื้นฟูจะเข้า ครม.ก็เข้าไปได้เลย ไม่ต้องส่งมาที่สภาพัฒน์ เรื่องที่ต้องส่งมาคือแผนที่ ขสมก.จะลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ โดยสภาพัฒน์พร้อมที่จะชี้แจง และเตรียมนัดหารือกับทางกระทรวงคมนาคม
ขณะที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า แผนฟื้นฟู ขสมก.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราค่าโดยสารของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านขนส่ง) เป็นประธาน เพื่อกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารที่จะจัดนำมาใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง หรือตามกิโลเมตร (กม.) ประกอบกับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ก่อนที่จะคำนวณเป็นค่าโดยสารที่แท้จริง
เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาและกำหนดมาตรฐานเรื่องอัตราค่าโดยสารแล้วนั้น ขสมก.จะรวบรวมข้อมูล พร้อมด้วยจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. พิจารณาตามกระบวนการ ซึ่งคาดว่า ขสมก.จะส่งรายละเอียดดังกล่าวไปยังสภาพัฒน์ภายใน มี.ค.2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าจะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใดนั้น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ว่า จะตอบกลับมายังกระทรวงคมนาคมหรือแล้วเสร็จเมื่อไหร่
ขณะที่ฝ่ายบริหารของ ขสมก.ให้ข้อมูลว่า ขสมก.จะต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.Single Network ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบโครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 162 เส้นทาง แบ่งเป็น ขสมก. 108 เส้นทาง เอกชน 54 เส้นทาง
2.Single Price ซึ่งวันที่ 24 ก.พ. ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวแล้ว นอกจากนี้ยังมีค่าโดยสารประเภทตั๋วเดือน ตั๋วนักเรียน ตั๋วผู้สูงอายุ และตั๋วเที่ยว ซึ่งตั๋วเที่ยวกำหนดที่ 15 บาทต่อเที่ยว เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้บริการประจำอีกด้วย
3.Single Management โดยจะต้องนำเสนอขอทบทวนมติ ครม. โดยหลักการแผนฟื้นฟูจะยังคงเหมือนเดิม แต่จะมีการปรับปรุงรายละเอียดตัวเลข และกรอบเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น, กรอบวงเงินสำหรับโครงการเกษียณก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น, วงเงิน PSO เพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.จะเช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถให้บริการ (รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน
ดังนั้นด้วยภาระหนี้สินของ ขสมก.และเงินงบประมาณที่รัฐต้องนำไปอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่อยู่ระหว่างผลักดันครั้งนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยพลิกฟื้นกิจการปัจจุบัน ขสมก.มีปัญหาสถานะทางการเงิน มีหนี้สะสม 1.27 แสนล้านบาท จึงต้องคิดและวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดกระทรวงคมนาคมจึงเร่งผลักดันให้แผนฟื้นฟูสำเร็จ ถ้าไม่ใช่เพื่อให้ ขสมก.อยู่รอด ไม่เป็นภาระของใคร และที่สำคัญ เรื่องนี้ยิ่งช้าประชาชน กทม.ก็ยิ่งเสียโอกาสในการใช้บริการรถโดยสารที่ดีขึ้น.
กัลยา ยืนยง