วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระอารามหลวง ชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร เดิมทีเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมเพื่อสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร ต่อมาพระองค์ทรงสร้างพระราชทาน ทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่ อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง กรุงเก่า ซึ่งหลวงพ่อโต เป็นที่เคารพสักการะ อย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน และพากันเรียกขานท่านว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง โดยเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว ตั้งอยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถหน้าวิหารหลวง เป็นหอระฆังที่เพิ่งสร้างใหม่ และเก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ภายในพระอุโบสถ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) โดยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทาน ทั้งยังถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงพุทธประวัติและวิถีชีวิตชาวบ้านชาวเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 มีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 อีกด้วย ที่ตั้ง : แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เปิดให้เข้าทุกวัน Blog ท่องเที่ยวตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ