เชียงใหม่ : ทำอย่างไรให้แหล่งผลิตบัณฑิตอันดับ 2 ของประเทศ รักษาทรัพยากรมนุษย์ให้ทำงานในภาคเหนือ – BBC News ไทย

  • Author, ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

CMU students

ที่มาของภาพ, Getty Images

“คุณเหลือเพื่อน อยู่เชียงใหม่กี่คน” เพจเฟซบุ๊ก iChiangmai ตั้งคำถามนี้ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2565 จนเกิดกระแสโด่งดังให้คนรุ่นใหม่ในภาคเหนือหยิบประเด็นนี้มาพูดคุยกันว่าทำไมคนที่เรียนจบที่นี่ ถึงไม่อยู่ทำงานในจังหวัด ทั้งที่เชียงใหม่ก็เป็นเมืองในฝันของใครหลายคน

เชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถาบันการศึกษาหลักที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกพื้นที่อันเนื่องจากคุณภาพการศึกษาที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ

สถาบันอุดมศึกษาของเชียงใหม่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละหลายหมื่นคน แต่ผู้จบการศึกษาจำนวนมากเลือกที่จะไม่อยู่ทำงานในพื้นที่ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือจำนวนงานที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่มากพอ และไม่ค่อยมีความหลากหลายเมื่อเทียบกับสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดสอน

เพราะเหตุใดเชียงใหม่จึงไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานในพื้นที่ จังหวัดจะมีวิธีการแก้ปัญหาเพื่อดึงบุคลากรที่จังหวัดผลิตได้ให้ทำงานอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร และภาครัฐจะมีส่วนร่วมการแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง   

ที่มาของภาพ, Getty Images

โครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือ

ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า การที่เชียงใหม่ผลิตบัณฑิตออกมาป้อนแรงงานตลาดปีละหลักหมื่นคน แต่ไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้  เป็นเพราะเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ  

ดร. ณพล บอกว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของเชียงใหม่ และหลาย ๆ จังหวัดทางภาคเหนือถูกปกคลุมด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาล ส่วน จ.ลำพูน มีนิคมอุตสาหกรรม ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนที่จบในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แต่ขนาดของโรงงานมีความเปลี่ยนแปลง เพราะบริษัทหลายแห่งทยอยปิดตัวในช่วงโควิด

“เมื่อย้อนไปดูจังหวัดอื่นเช่น ลำปาง แพร่ หรือ น่าน ก็คือเงียบเลย อย่าง จ.เชียงราย ที่ดูเหมือนจะดีกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพราะมีมหาวิทยาลัยดังอย่างแม่ฟ้าหลวงอยู่ และมีความเป็นนานาชาติสูงกว่าที่เชียงใหม่เสียอีก กลับตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะไม่มีอาชีพรองรับในจังหวัด สำหรับนักศึกษาที่จบมาจากสาขาที่หลากหลาย” ดร. ณพล อธิบาย

ดร. ณพลกล่าวว่า ไม่มีอาชีพรองรับบัณฑิตที่จบมา เพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือหรือยุทธศาสตร์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอาประโยชน์จากแรงงานที่ถูกผลิตมาเอาไปใช้เลย

ที่มาของภาพ, iMazmaker

คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ อธิบายว่าปัญหามาจากเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ภาคเหนืออย่างเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดย ดร. ณพลได้อธิบายไว้ว่า ไม่ว่าแต่ละจังหวัดจะผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานมากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนที่ต้องการโอกาสทางการงานและความก้าวหน้าต่างมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ทั้งหมด ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมือง “โตเดี่ยว”

“โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้คนรุ่นใหม่สามารถที่จะมีอนาคตที่ดีได้เลย ถ้าคุณไม่ได้โชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพย์สินเยอะ หรือว่าเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว” ดร.ณพลกล่าว

“โอกาสที่จะประสบความสำเร็จหรือว่ามีชีวิตที่ดีมันค่อนข้างยากมาก ในทางกลับกัน จะดีกว่าไหม ถ้ารัฐบาลเห็นปัญหาตรงนี้ แล้วแก้ให้เป็นระบบ”  

เชียงใหม่กับการเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ต”

ศิวกร จันต๊ะคาด คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 26 ปี เจ้าของธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มาจาก จ.เชียงราย เขาก็เหมือนกับคนรุ่นใหม่ในภาคเหนือหลายคนที่มาหาโอกาสความก้าวหน้าในกรุงเทพฯ ก่อนจะตระหนักได้ว่าการได้เงินเดือนที่สูงในเมืองหลวง ก็ตามมาด้วยค่าครองชีพที่สูงมากเช่นกัน 

ด้วยความเป็นคนที่มีความสามารถและไอเดีย ศิวกรจึงตัดสินใจกลับไปอยู่เชียงใหม่เพื่อเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง เขาเริ่มเลยพูดคุยกับเพื่อนก่อนที่จะมาเจอผู้ลงทุนที่ตอนนี้กลายมาเป็นหุ้นส่วนบริษัทที่เขาเปิดกับเพื่อน

“ผมคิดว่าคนเก่งที่เชียงใหม่มีเยอะ ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทก็เยอะด้วยเทคโนโลยีของ บล็อกเชน มันทำเงินได้เยอะมาก ผมรู้จักบริษัทหนึ่งทำเกมเดียวขายได้ประมาณ 20 ล้าน ทำกัน 3 เดือนอยู่ในเชียงใหม่ เป็นเกมบล็อกเชน ทำกันประมาณ 5-6 คน ไม่ได้ตั้งบริษัทด้วย ขายให้ต่างชาติ แล้วเขาก็ได้เอาเงินที่ได้จากในระบบมาผันเข้าเป็นเงินไทยแล้วเอาออกมาใช้ เขาก็ทำเกมแบบนี้เรื่อย ๆ ตอนนี้ตลาดยังดีอยู่” ศิวกรอธิบาย

ที่มาของภาพ, iMazmaker

คำบรรยายภาพ,

ศิวกร จันต๊ะคาด กล่าวว่าเชียงใหม่ในตอนนี้เป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตของนักลงทุน

“ตอนนี้เชียงใหม่เหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต สมมติว่าเรามีบริษัท มีงบประมาณอยากจะทำอะไร ก็บินไปเชียงใหม่ หาคน แล้วเขาก็รับจ้างทำให้ บางคนทำมาอยู่แล้ว แก้รายละเอียดนิดหน่อยก็ขายได้เลย แล้วคนที่ซื้อไปก็นำซอฟแวร์ที่ทำเสร็จแล้วไปแต่งหน้าทาปากใช้ได้เลย เชียงใหม่ไม่ธรรมดา มีเด็กแบบนี้เยอะเลย”  

ดร.ณพลขยายความเรื่องเกมบล็อกเชนไว้ว่าเป็นเหมือนเกมในโทรศัพท์มือถือ หรือเกมคอมพิวเตอร์ ข้อแตกต่างก็คือว่ามันสามารถเชื่อมต่อกับวอลเล็ตได้ และคำว่าวอลเล็ต ในที่นี้คือบล็อกเชน

“เพราะฉะนั้นหมายความว่าเกมเหล่านี้มันสามารถทำธุรกรรมการเงินได้หมดเลย เกมสามารถสร้างสกุลเงินของตัวเองได้ สร้างเหรียญตัวเองขึ้นมาได้ แล้วก็สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสเตเบิลคอยน์ เอามาแลกเป็นเงินตราทั่วไปอย่างพวกดอลลาร์สหรัฐได้” ดร.ณพลอธิบาย  

“เป็นเทรนด์ใหม่ เกมที่เราเคยเสียเงินซื้อเกมเป็นแอปพลิเคชันเล่น เกมยุคใหม่จะเป็นเกมที่ฟรี โหลดฟรี แต่ถ้าคุณอยากได้ไอเท็มในเกมคุณก็ต้องซื้อ ถ้าคุณเล่นแล้วสามารถได้รางวัลคุณก็สามารถแลกเป็นเงินได้นี่คือเกมยุคใหม่”

ดร.ณพลอธิบายเพิ่มเติมว่านี่เป็นหนึ่งในช่องทางของการสร้างรายได้ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่รวมทั้งใน จ.เชียงใหม่เองด้วยที่มีคนรุ่นใหม่

เศรษฐกิจดิจิทัล

ก่อนหน้าที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จ.เชียงใหม่ และ จ.ขอนแก่น กลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า digital nomad หรือกลุ่มคนที่ทำงานประเภทออนไลน์ที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์พกพาและอินเทอร์เน็ต เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อทำงานและใช้ชีวิตในไทย

“กระแสเศรษฐกิจดิจิทัลในเชียงใหม่มาก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สาเหตุที่เกิดปรากฎการณ์ digital nomad เกิดขึ้น เพราะคนที่ทำงานสายนี้มีเพียงแค่คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องและอินเทอร์เน็ต ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้” ดร.ณพลกล่าว

“สาเหตุที่คนเหล่านี้เลือกที่จะไปเชียงใหม่หรือขอนแก่น เพราะทุกคนต้องการใช้ชีวิตด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง ที่ที่ค่าครองชีพต่ำ ซึ่งก็เป็นจุดเด่นของเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีบริการร้านอาหาร ผับ บาร์ ครบวงจร ค่าหอพักถูก การเดินทางง่าย ชีวิตกลางคืนหลากหลาย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่เป็นเสน่ห์ ทำให้แรงงานเคลื่อนตัวมาอยู่ตรงนี้มากขึ้น”

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร.ณพล กล่าวว่ารัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ว่าเมืองไหนต้องเดินไปด้านใด อย่าง จ.เชียงใหม่ ที่มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนไปในทิศทางของ เลยคือเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล G

“ธุรกิจอะไรไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ตัดออกมาภูมิภาคได้ไหม ยกตัวอย่าง เช่นธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ทุกคนเสพในชีวิตประจำวัน ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้กลายเป็นชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว” ดร.ณพล อธิบาย

“คนที่เป็นนักสร้างดิจิทัลคอนเทนต์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ใรกรุงเทพฯ บริษัทที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ หรือการตลาดแบบดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด คุณสามารถที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เราสามารถมีนโยบายที่ผลักคนเหล่านี้ออกมาได้ไหม”

“รัฐบาลสามารถวางกลยุทธ์ว่า ต่อไปนี้ไม่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่อยากให้เป็นศูนย์กลางของดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างแล้วว่าวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ส่งผลต่อการท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจเชียงใหม่พังทั้งเมือง เพราะมันไม่เกิดการบริโภคจากภายในเองมากเท่าการพึ่งนักท่องเที่ยว”

ภูษิต นิยมสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เมซเมกเกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและให้บริการด้านการจัดการธุรกิจและการตลาดดิจิทัล ในจังหวัดเชียงใหม่บอกกับบีบีซีไทยว่าเขาได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมที่สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้ชื่อโครงการ เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ (Chiang Mai Crypto City: CCC)

“เป้าหมายคือจะผลักดันให้เชียงใหม่ใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับบล็อกเชนหรือคริปโต เพื่อมาพัฒนาเมือง แล้วก็จะได้ไปผลักดันส่วนของกฎหมายด้วย อันนี้คือโปรเจกต์ ใหญ่เลย” ภูษิตอธิบายถึงความพยายามของภาคเอกชนในพื้นที่เชียงใหม่กับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำในเมืองหลวงอย่างที่เป็นอยู่

ผลักดันให้ถูกกฎหมาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร.ณพล กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการทำธุรกิจประเภทบล็อกเชน เพราะว่าธุรกิจนี้กฎหมายมันยังไม่ได้รองรับเต็มที่

“พวกนี้เป็นระบบเศรษฐกิจใต้ดิน ผมใช้คำว่าใต้ดินเลยนะ เพราะเวลาซื้อขายงานกันเขาไม่จ่ายเป็นเงินบาท จ่ายเป็นสเตเบิลคอยน์ ที่อิงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐ โอนกันแบบรัฐบาลไม่รู้เลย ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ได้เสียภาษี” ดร.ณพลกล่าว

“พอมันมีธุรกิจที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน เวลาจะโฆษณาทำการตลาดกับธุรกิจเหล่านี้ในเมืองไทยมันก็ยังไม่ได้ถูกต้อง 100% มันยังเทา ๆ อยู่ แต่มันก็มีกลยุทธ์อีก คือไปเปิดบริษัทที่ต่างประเทศ แค่ที่ไปจดทะเบียนเอาไว้ แต่ไม่มีตัวตนเป็น virtual company มี virtual office แต่คือไม่มีตัวตนจริง ๆ ในทางกฎหมายมี แต่ในทางกายภาพไม่มี”

ดร.ณพล เสนอแนะว่าทางรัฐบาลไทยควรทำแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้คนที่ไม่มีทุนแต่ อยากเป็นผู้ประกอบการ เพราะถ้ามีกลุ่มทุนหรือก้อนเงินมาให้ จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการหันมาลงทุนมากขึ้น

“พอเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้มันไม่ได้ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นสีเทา เพราะกฎหมายยังไม่รองรับ คนแบบนี้ที่มีไอเดียมีความสามารถระดมทุนไม่ได้อย่างเปิดเผย กู้แบงค์ก็ไม่ได้ เปิดบริษัทก็ไม่รู้จะเปิดบริษัทยังไงเพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีตัวตนอะไร เพราะฉะนั้นคือใต้ดินหมด ตรงนี้คือปัญหา” ดร.ณพลอธิบาย

“ถ้ามันมีแซนด์บ็อกซ์ ถ้าประเทศไทยอยากทำเชียงใหม่เป็นแซนด์บ็อกซ์ เรียนรู้ไปด้วยกัน คนนี้เปิดบริษัทได้มีคนมาลงทุนได้ เซ็นสัญญาได้ คุณจะเอาไอเดีย ผมมี IP นะมีทรัพย์สินทางปัญญานะ กู้แบงก์ได้ ถ้าเกิดอยากลองเสี่ยง มันถึงรันได้ แต่ว่าตอนนี้คือคือทุกอย่างห้ามหมด ซ้ำร้ายบางอันห้ามไปก่อน ทั้งที่ไม่รู้ว่าทำได้ไม่ได้”  

ล้านนาสร้างสรรค์

นอกจากเรื่องไอที ดิจิทัลแล้ว ยังมีความพยายามที่จะต่อยอดวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิต พื้นที่ จ.เชียงใหม่ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ ในรูปแบบวัฒนธรรมล้านนา

ให้เกิดการสร้างงานใหม่ ๆ

ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้วางยุทธศาสตร์ “ล้านนาสร้างสรรค์” มองเห็นว่าจุดแข็งหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือความที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูงมาก โดยเฉพาะที่เรียกว่าวัฒนธรรมล้านนา

“ล้านนาแท้จริงแล้วมันคือดินแดนของภาคเหนือ แต่ทางนามธรรมมันคือวิถีชีวิต วิถีชีวิตแบบคนเมือง คนเหนือ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 และมีเรื่องเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม ต่อจากปัจจัย 4” ดร.เอกชัยอธิบาย

“เราวิเคราะห์ออกมาแล้วว่าตัวมหาวิทยาลัยของเรามีความเข้มแข็งทางนี้มาก เพราะว่าล้านนาเคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะเอาอัตลักษณ์ตรงนั้นให้ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของมหามหาลัยเชียงใหม่ นักศึกษา บัณฑิต ของมหาลัยเชียงใหม่

ที่มาของภาพ, Chiang Mai University

นี่จึงเป็นที่มาของศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ที่ต่อยอดมาจากวิทยาลัยล้านนาคดีศึกษาที่มีคนให้ความสนใจน้อยกว่าเพราะเป็นการต่อยอดที่ไม่ตรงจุด แต่หลังจากที่ ดร.เอกชัย นำจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่มีอยู่เดิม และเป็นภูมิปัญญาที่ใช้เฉพาะทาง ไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดเอาภูมิปัญญานั้นมารับใช้สังคมปัจจุบัน หรือทำให้มันร่วมสมัย

“ผมเลยคิดว่าการต่อยอดนั้นต้องให้มันร่วมสมัยกับคนทั่วไป ไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่ม เพราะฉะนั้นผมก็เอาภูมิปัญญาเหล่านั้นมาดูว่าเรามีอะไร แล้วนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย เข้ากับเทรนด์ของปัจจุบันได้ วัฒนธรรมล้านนาต้องมีการต่อยอด ต้องมีการทำให้ร่วมสมัย ทำให้มันจับต้องได้ ทำให้คนอยากใช้ อยากอยู่ในวัฒนธรรมนั้นจริง ๆ ถึงจะ เรียกว่าล้านนา”

ดร.เอกชัยกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ก็เพื่อทำให้ภูมิปัญญาล้านนาสามารถต่อยอด เพราะวัฒนธรรมต้องมีพลวัตถึงเคลื่อนต่อไปได้ และถ้าวัฒนธรรมไม่หมุนตามยุคสมัยก็จะสูญหายไปในที่สุด

“เราเริ่มสร้างแพลตฟอร์มและก็หน่วยที่ดูแลโปรแกรมขึ้นมา เป็นการฝึกอรมบ่มเพาะด้านการสร้างคนและสร้างของ และเริ่มรับสมัครคนที่สนใจอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะคนเจนวายเจนแซดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่าทำงานออฟฟิศ แล้วก็บ่มเค้าให้ความรู้เขาเรื่องธุรกิจและเรื่องการทำการตลาด” ดร.เอกชัยอธิบาย

“คนมีความรู้เรื่องการออกแบบ อาจจะขาดเรื่องการตลาด เรื่องบิสซิเนสโมเดลหรือคนที่มีความรู้เรื่องธุรกิจแต่ไม่รู้เรื่องการออกแบบ เราก็จับสองคนสองกลุ่มนี้มาแมตช์กันทำให้เขามีทั้งโมเดลทางธุรกิจ เข้าใจในส่วนของวัฒนธรรมและดีไซน์ ต้นทุนที่มีอยู่แล้วเราสามารถที่จะขายได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมนั่นเอง”

แม้ว่าจะมีความพยายามจากทั้งทางภาคเอกชนและจากกลุ่มนักวิชาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยู่พัฒนาพื้นที่ แต่นี่ถือว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปในพื้นที่อื่นนอกจากเมืองหลวง ที่ยังคงรอคอยการสนับสนุนจากภาครัฐ 

กรุงเทพ

กรุงเทพ

กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย

Next Post

บทความแนะนำ

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.