จากพื้นที่เดิมที่เคยเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า “คุกกองมหันต์โทษ” หรือ “คุกใหม่” ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้นำเอารูปแบบเรือนจำ Brixton ของประเทศสิงคโปร์ อันเป็นเรือนจำ ระดับความมั่นคงสูงสุดมาใช้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ โครงการปรับปรุงทัณฑสถาน วัยหนุ่มบางเขน หรือ “เรือนจำกลางคลองเปรม” และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาควบคุมรวมกัน แล้วปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้เป็นสวนสาธารณะ น้อมเกล้าถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “รมณีนาถ” ซึ่งมีความหมายว่า “นางผู้เป็นที่พึ่ง” สวนสาธารณะแห่งนี้ เป็นทั้งสวนสุขภาพและมีดนตรีในสวนให้ประชาชนทั่วไป ได้ผ่อนคลาย ความตึงเครียดจากชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีจุดน่าสนใจอีกหลายแห่ง ที่สามารถแวะเวียน ไปเยี่ยมชมได้ เช่น “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” ซึ่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2540 ตั้งอยู่ด้านถนนมหาไชยประกอบไปด้วยอาคาร 4 หลังคือตึกศาลอาญา (แสดงเครื่องมือลงทัณฑ์ การประหารชีวิต อุปกรณ์เกี่ยวกับเรือนจำและการหลบหนีของนักโทษ) ตึกรักษาการณ์ (แสดงภาพประวัติและอุปกรณ์เครื่องใช้ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเอกสารเกี่ยวกับประวัติการราชทัณฑ์ในอดีต) ตึกร้านค้ากรมราชทัณฑ์ (จัดจำหน่ายสินค้า ราชทัณฑ์และของที่ระลึก) และอาคารแดน 9 (เป็นเรือนนอนผู้ต้องขังในอดีต แสดงสภาพการใช้ชีวิต ประจำวันของนักโทษ ระบบการคุมขังและลักษณะอาคารตามแบบตะวันตก) อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ประติมากรรมสังข์สัมฤทธิ์” ลักษณะเป็นสังข์เวียนซ้ายวางบนพานหล่อด้วยโลหะผิวสัมฤทธิ์ ภายในสังข์บรรจุแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคล และสังข์องค์จริง ออกแบบส่งน้ำในสระไหลจากปากสังข์ลงสู่สระ แสดงความหมายแทนน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกจุดสำคัญ คือ “พิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์” ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีความสำคัญและมีบทบาทต่อการเมืองการปกครองของไทย ภายในสวนยังมีบึง ไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม และมีศาลาให้พักร้อน ชมวิวทิวทัศน์ภายในสวนอีกด้วย ที่ตั้ง : ถนนศิริพงษ์ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. Blog ท่องเที่ยวตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ