โรงละครแห่งนี้เปรียบได้กับสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่า ศิลปินโขน ละคร ฟ้อนรำ และนักดนตรี จะต้องมีการแสดงออกซึ่งศิลปะให้เข้าถึงผู้ดูและผู้ฟัง ศิลปินจึงจำเป็นต้องมีสถานที่ แสดงหรือโรงมหรสพ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับบรรดามิตรประเทศ อันเป็นรากฐานที่จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้รับโอนกิจการโขน ละครและดนตรีจากสำนักพระราชวังมาดำเนินการ จึงได้ทำการปรับปรุงหอประชุม กรมศิลปากรในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นโรงละครแห่งชาติ ชั่วคราว และปี พ.ศ. 2504 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงละครแห่งชาติอย่างถาวร ดำเนินการเสร็จสิ้นในปีงบประมาณ 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรการแสดง นาฏศิลป์ไทยในวโรกาสพิธีเปิดโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508 นับเป็นปฐมฤกษ์ของการดำเนินกิจการโรงละครแห่งชาติเป็นต้นมา ในปัจจุบันนอกจากจะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานนาฏศิลป์ต่าง ๆ แล้ว ยังใช้สำหรับจัดงานรับรองพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะจากต่างประเทศได้อย่างสมเกียรติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ที่ตั้ง : ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ Blog ท่องเที่ยวกรุงเทพฯตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ