ติดเชื้อโควิดรายวันยังสูง 2,101 ราย เสียชีวิต 17 ราย อาการหนัก 1,442 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 394 ราย ตั้งแต่ 1 เม.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 512 ราย กทม.น่าห่วงคนไข้อาหารหนัก-ปอดอักเสบแนวโน้มเพิ่มขึ้น คนป่วยล้น เตรียมขอ ก.สาธารณสุขช่วย นายกฯ กำชับให้ดูแล เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ขาดคนดูแลเหตุโควิด พร้อมอำนวยความสะดวกจองวัคซีน-ส่งตัวรักษาโรงพยาบาล อว.เผยคน กทม.เกือบทุกคนใส่หน้ากากอนามัยสูงกว่า 99.5% ทุกบริเวณ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,101 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,086 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,674 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 412 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 83,375 ราย หาย ป่วยสะสม 53,605 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 2,186 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,371 ราย อาการหนัก 1,442 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 394 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 17 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 9 ราย ในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง อ้วน ลมชัก ไตเรื้อรัง ตับแข็ง ปอดเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัจจัยเสี่ยงมาจากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 399 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 158,313,826 ราย เสียชีวิตสะสม 3,296,623 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. และอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข มีการวิเคราะห์หาสาเหตุของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-7 พ.ค. พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 512 ราย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล 34% และมีอาการถึง 285 ราย ไม่มีอาการ 181 ราย ทั้งนี้ มีถึง 57 จังหวัดที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ และมากที่สุดอยู่ใน กทม. 137 ราย ปัจจัยเสี่ยงมาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน สัมผัสเพื่อนร่วมงานที่ป่วย
โฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากสุดในวันที่ 9 พ.ค. ได้แก่ กทม. 980 ราย นนทบุรี 221 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ชลบุรี 96 ราย สมุทรสาคร 95 ราย เฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.และปริมณฑลในวันที่ 9 พ.ค. รวมทั้งสิ้น 1,457 ราย ถือว่าเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อในวันเดียวกัน ในส่วนของ กทม.มีความต้องการใช้เตียงและโรงพยาบาลสำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักและปอดอักเสบเพิ่มขึ้น เพราะแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่มี อาการหนักใน กทม.และปริมณฑลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใน กทม. เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย 10 เขตที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย 31 ราย คลองเตย 19 ราย ปทุมวัน 18 ราย ดินแดง 14 ราย ลาดพร้าว 12 ราย ราชเทวี 11 ราย ห้วยขวาง 11 ราย จตุจักร 10 ราย วัฒนา 10 ราย วังทองหลาง 9 ราย
สำหรับกลยุทธ์สำคัญของ กทม.ตอนนี้คือ การตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดในพื้นที่เป้าหมาย โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 8 พ.ค. มียอดการตรวจเชิงรุกสะสม 107,366 ราย พบเชื้อ 2,874 ราย เฉพาะเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ตรวจเชิงรุก 6,869 ราย พบเชื้อ 241 ราย อยู่ระหว่างรอผล 7,377 ราย ยืนยันว่าเราจะตรวจเชื้อรุกต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนที่มีความชุกสูง ไม่ว่าจะเป็นคลองเตย ที่มี 39 ชุมชน และเคหะบ่อนไก่ ปทุมวัน ที่จะตรวจต่อเนื่องทุกวัน ทั้งนี้ จะมีการตรวจเชิงรุกที่ชุมชนบ้านญวน หลังบ้านมนังคศิลา เขตดุสิต ในวันที่ 9-11 พ.ค. ประตูน้ำ เขตราชเทวี วันที่ 11 พ.ค. แฟลตดินแดง ย่านพระราม 9 วันที่ 10-11 พ.ค. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วันที่ 11 พ.ค. และเขตอื่นๆ ด้วย ดังนั้นประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้
ย้ำคนไทยป่วยโควิดรักษาฟรี
ก่อนการแถลงข่าวประจำวัน ศบค.เผยแพร่คลิปของ นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุว่า การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ประชาชนต้องเข้ารับบริการตามที่โรงพยาบาลหรือแพทย์กำหนด ท่านเป็นคนไทย ทุกสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมดได้รับบริการเช่นเดียวกัน ส่วนการเรียกเก็บในรายการเดียวกัน แต่เกินกว่าราคา ขอให้ส่งเรื่องมาที่เราได้ที่ สายด่วน 1330 เราจะรับเรื่องและประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้ต้องคืนเงินประชาชน และอีกส่วนหนึ่งที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เช่น ท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงมาตรวจคัดกรอง ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ให้มาเก็บกับ สปสช.ทั้งค่าห้องทุกประเภท ค่าอาหาร ค่ายา ค่าการป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ค่าแพทย์ ค่าพยาบาลทั้งหมด ถ้าอยู่ในรายการเหล่านี้เบิกได้ทั้งหมด ยืนยันผู้ป่วยโควิดทุกรายต้องได้รับการรักษาฟรี
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวยอมรับพบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นในโควิดระลอกเดือนเมษายน จึงเป็นที่มาต้องปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น ในผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วม ทำให้มีแนวโน้มการดำเนินของโรคโควิดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเบาหวาน, ความดันโลหิต, อ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม, อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดอื่นๆ, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง และตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ลดปอดอักเสบได้ แต่ทั้งนี้ การจะลดความรุนแรงของโรค ไม่ได้สำคัญอยู่ที่การให้ยาเร็ว แต่เป็นการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยให้เร็วมากยิ่งขึ้น
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาการคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่คลองเตยอาจล่าช้าไม่รวดเร็ว ทำให้เริ่มพบผู้ป่วยในพื้นที่คลองเตย จากผู้ป่วยสีเขียว พัฒนาเป็นสีเหลืองแล้ว และเพิ่งถูกส่งตัวมาจากศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด ที่สนามกีฬานิมิบุตรประมาณ 7-8 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีเหลือง 1-2 คน และพบว่าจากเดิมในพื้นที่คลองเตย พบผู้ป่วยสีเหลืองแค่ร้อยละ 4-5 แต่ปัจจุบันพัฒนาไปร้อยละ 10 เมื่อเช้าที่ผ่านมา (9 พ.ค.) จึงได้มอบหมายให้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ไปหารือกับสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. เจ้าของพื้นที่ให้เร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ว่าทำอย่างไรจึงจะเร่งคัดกรองและนำตัวผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเข้าระบบให้เร็วที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีการอาการรุนแรงมากขึ้น
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า หลังดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกชุมชนในพื้นที่เสี่ยงของ กทม. พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้พบผู้ติดเชื้อกว่า 300 คน มีทั้งผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้จะต้องเข้ารับการดูแลภายใน รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล แต่ปัญหาคือฮอสพิเทลจะขอรับผู้ติดเชื้ออายุไม่เกิน 50 ปีขึ้นไป ทำให้สำนักการแพทย์ต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง และโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้ประสบภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน อย่างไรก็ตาม หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก กทม.คงต้องประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลสนามของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนของศูนย์แรกรับของอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ และโรงพยาบาลสนามที่กำลังเปิดเพิ่มเติม
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งสถานที่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ (รพ.สนาม/hospitel) จำนวน 9 แห่ง และสถานที่สำหรับรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการ (รพ.สังกัด กทม.) จำนวน 8 แห่ง นอกจากนี้ กทม.ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ร่วมกับ เครือข่ายร่วมดำเนินการ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. – 8 พ.ค.64 ศูนย์เอราวัณรับผู้ป่วย 4,611 ราย เข้ารับการรักษา 4,159 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 2,892 ราย รักษาในโรงพยาบาลอื่น จำนวน 1,267 ราย
กำชับดูแลกลุ่มคนเปราะบาง
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.โพสต์เฟซบุ๊กสรุปการตรวจหาเชื้อ Covid-19 เชิงรุกในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. จนถึง 8 พ.ค.64 ทั้งสิ้น 16,131 ราย ตรวจเพิ่ม 6,784 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 256 ราย และจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทราบผล 9,347 ราย พบผู้ติดเชื้อ (+) 477 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.10 กทม.จะตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้ได้มากที่สุด และเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนให้เร็วที่สุด
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี? และ รมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ครอบคลุมเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เมื่อผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มเปราะบางจึงอยู่ในสถานะขาดที่พึ่ง ภาครัฐจึงต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาของคนกลุ่มนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สั่งเปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ พม.พร้อมให้การดูแลประสาน กทม.และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งต่อเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ป่วยพิการที่ต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ พม.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจัดพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ หรือหากผู้ป่วยติดต่อประสานเข้ารักษาพยาบาลไว้แล้ว แต่มีปัญหาไม่มีรถมารับ พม.จะจัดรถไปรับเพื่อส่งไปรับการรักษา พร้อมกันนี้เรื่องการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน ได้เตรียมอาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) และเจ้าหน้าที่ พม.ทั่วประเทศไว้คอยช่วยกลุ่มเปราะบางลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน ซึ่งจะฉีดให้กับผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค หากเป็นผู้มีคุณสมบัติ แต่ยังลงทะเบียนไม่ได้ สามารถโทร.มาขอความช่วยเหลือที่ สายด่วน 1300 ซึ่งจะมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การลงทะเบียนสำเร็จเรียบร้อย
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว.ได้ประมวลผลจากกล้อง 30 จุด ใน 28 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร พบว่าคนกรุงเทพฯ เกือบทุกคนใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะแล้ว โดยในประชากร 10,910 คน มีเพียง 45 คนเท่านั้นที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้อง มี 3 เขตที่ต่ำกว่า 99% แต่สูงกว่า 98% และมีเพียง 2 เขตที่ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่า 98% และเมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดพบว่า อัตราการใส่ในช่วงเช้าและเย็นก็สูงกว่า 99.5% ทั้ง 2 ช่วง ทั้งนี้ จุดที่สำรวจพบการใส่หน้ากากอนามัยในอัตราต่ำสุดอยู่ที่บริเวณสะพานลอยคนข้ามถนนที่เขตสาทร พบการใส่หน้ากากอนามัยเพียง 88.89%
“นอกจากนี้เมื่อติดตามการใส่หน้ากากอนามัยในแต่ละบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นหน้าธนาคาร ทางเดินริมถนน หน้าร้านสะดวกซื้อ หน้าศูนย์การค้า หน้าตลาด ป้ายรถเมล์ สะพานลอยข้ามถนน และในตลาด ก็มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยสูงกว่า 99.5% ทุกบริเวณ แสดงว่าคนกรุงเทพฯ ได้ระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ในที่สาธารณะแล้ว” ปลัดกระทรวง อว.ระบุ
สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับการเอาชนะโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,894 คน สำรวจวันที่ 3-7 พ.ค.2564 พบว่า ประชาชนคิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มปกติทั่วไป ร้อยละ 41.55 รองลงมาคือ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ร้อยละ 22.18 เมื่อติดตามข่าวรู้สึกวิตกกังวลและเครียดมากขึ้น ร้อยละ 46.04 ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 หมดค่าใช้จ่ายไปกับหน้ากากอนามัยมากที่สุด ร้อยละ 83.94 โดยจะรับมือด้วยการไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 83.32 และจะใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ร้อยละ 92.12 นอกจากนี้ผลโพลยังพบว่า มีผู้ที่ตอบว่าสิ่งที่จะทำให้อยู่รอดจากโควิดคือ การฉีดวัคซีน มีเพียงร้อยละ 45.24 เท่านั้น.