เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กทม. ร่วมกับศูนย์วิจัยชุมชนเมืองจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือน เดินหน้าแก้ปัญหาคนจนเมือง 3 เขต นำร่องก่อนขยายครอบคลุมทั่วกรุง
วันนี้ (26 ส.ค.) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีสรุปเครื่องมือการเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนโครงการวิจัย “การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร” (พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว) โดยมี ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ผู้บริหารและผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตพระโขนง และสำนักงานเขตคันนายาว ทีมคณะวิจัย และภาคีเครือข่าย ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติการ ณ ห้องพัชราวดี ชั้น 11 อาคาร 2 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และประชุมผ่านระบบออนไลน์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องคนจนเมืองเป็นเรื่องซับซ้อนและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถแก้ได้ในมิติใดมิติหนึ่ง ซึ่งเครื่องมือที่เป็นหัวใจส่วนหนึ่งคือสวัสดิการรัฐ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนหลุดออกจากความยากจนเบื้องต้น และมีหลายมิติที่ต้องทำพร้อมกันโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นประชาสังคมมาก่อนเห็นว่าประชาสังคมมีความสำคัญมาก เพราะทำงานด้วยจุดมุ่งหมายเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีใจที่อยากจะแก้ปัญหาให้ได้ ส่วนนักวิชาการเป็นผู้มีความรู้ ศึกษาวิจัย เข้าใจในปัญหาหยั่งรากลึก เอกชนก็มีกำลังมีความหวังดีต่อเมือง เพราะว่าถ้าเมืองดีเขาก็ดีด้วย ภาครัฐเองต้องห่อหุ้ม 4 แกน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน มาร่วมกันทำในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม
การเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนเป็นหนึ่งในโครงการที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและลงลึก เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้ได้ใน 3 เขตนำร่อง ซึ่งปัจจุบันมีหลายนโยบายที่กำลังผลักดันอยู่ เช่น เรื่องย่านสร้างสรรค์ ถนนคนเดิน งานเทศกาลต่าง ๆ เป้าประสงค์จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องนันทนาการ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่อยากให้เกิดความเคลื่อนไหวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการทำงานต่อไปจะมี Working Group ของทีมโครงการเพื่อออกแบบระบบที่เชื่อมโยงกับนโยบายที่กรุงเทพมหานครทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านสร้างสรรค์ซึ่งเป็นระดับเส้นเลือดฝอย ทำให้กลุ่มชุมชน กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ เช่น คนในชุมชนที่เขามีปัญหาเฉพาะของเขา มาเจอกับคนที่อยู่คอนโดมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นกลไกของพื้นที่ที่แท้จริง มีพลังในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะทำให้หลาย ๆ ปัญหาแก้ได้เร็วกว่าการที่รัฐพยายามจะวิ่งลงไปแก้ให้
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า สิ่งที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและพยายามจะผลักดัน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 นี้ คือ การจัดสรรงบประมาณโดยให้อำนาจประชาชนในการออกแบบโครงการที่ต้องการแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งกรุงเทพฯ มีจำนวนชุมชนทั้งหมด 2,016 ชุมชน โดยเปลี่ยนจากเดิมที่เขตเคยเป็นผู้เสนอโครงการให้ชุมชนทำ มาเป็นให้ชุมชนตั้งโครงการขึ้นโดยมีเขตเป็นผู้สนับสนุน แล้วมาดูผลลัพธ์ที่ได้ว่าเรามีกลไกโครงสร้างองค์กรชุมชนเกิดขึ้นเข็มแข็งแค่ไหน เพื่อที่จะหยั่งรากลึกให้กับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องคนจนในอนาคต
สำหรับโครงการวิจัย “การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร” ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab) ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีพื้นที่ศึกษาในกรุงเทพมหานคร 3 เขต ได้แก่ 1. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นตัวแทนของพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร 2. เขตพระโขนง เป็นตัวแทนพื้นที่เขตชั้นกลางหรือพื้นที่กำลังเปลี่ยนผ่าน และ 3. เขตคันนายาว เป็นตัวแทนพื้นที่เขตที่มีการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรของเมือง โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้เพื่อหารือเรื่องเครื่องมือแบบสอบถามและการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่นำร่อง แลกเปลี่ยนแนวทางการนำข้อมูลไปใช้ และการพัฒนาโมเดลแก้ไขความยากจน (Operating Model : OM) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน และรูปแบบการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือคนจนเป้าหมายให้กับหน่วยงานระดับพื้นที่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การออกแบบการแก้ปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับกรุงเทพมหานครในการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำต่อไป