02 พ.ย. 2565 | 04:26:01
(1 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการจัดบริการพัฒนาเด็กพิการ โดยมี นายอดิศักดิ์ รอดสุวรรณ นายกสมาคมชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
โดยมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การจัดตั้ง การสนับสนุนงบประมาณ และสถานที่เพื่อดำเนินงาน “ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว” ที่จัดบริการโดยคนพิการหรือครอบครัวคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อิสระเต็มศักยภาพมากที่สุดเท่าที่คนพิการคนนั้นสามารถจะทำได้ในทุกประเภทความพิการ ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ศูนย์ของสมาคมเป็นเหมือนสถานที่ที่ผู้ปกครองมาดูแลกันเอง ดังนั้น ต้องดูก่อนว่า กทม. จะช่วยอะไรได้บ้าง การจัดตั้งศูนย์ต้องเป็น Public Space ซึ่งทาง กทม. ไม่ต้องหาบุคลากร เพราะทางสมาคมมีบุคลากรอยู่แล้ว เจอหมอได้สะดวกขึ้น เริ่มต้นให้เป็น Self Help แล้วก็มาใช้ห้อง ก็ไม่ต้องทำอะไรใหม่ ทำให้เป็น Public Space ถ้าหา Consult ก็ดีเพราะอยู่ใกล้หมอเลย เป็นจุดแข็งที่เรามีศูนย์สาธารณสุขอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้ทุกที่ ถ้าสร้างโรงพยาบาลใหม่ก็มีห้องนี้เตรียมไว้เลย หรือศูนย์สาธารณสุขใหม่ก็เตรียมห้องไว้ หรือสำนักงานเขตใหม่ก็เตรียมห้องไว้ให้เลย เผื่อไว้เป็นห้องเปล่า ๆ ไม่มีอัตราตำแหน่ง
เริ่มต้นเป็นนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ ด้วยการทำศูนย์ของเราเอง 1 หรือ 2 ศูนย์เป็นต้นแบบ เริ่มต้นจากโรงพยาบาลของเราเอง ให้เครือข่ายพ่อแม่มาใช้สถานที่นี้ได้ หรือจะหาพื้นที่หรืออาจจะอยู่ในโรงพยาบาล หรือศูนย์สาธารณสุข แต่หัวใจอยู่ใกล้ความต้องการ คนพิการจะได้เดินทางง่าย คอนเซ็ปแรกคือ 10 ศูนย์ หาเครือข่ายไปช่วยเหลือ อยู่ใกล้สำนักพัฒนาสังคมก็ให้สำนักฯ ไปซัพพอร์ต อยู่ใกล้โรงพยาบาลให้โรงพยาบาลซัพพอร์ต อยู่ใกล้ศูนย์สาธารณสุขก็ให้ศูนย์แนะนำ ถ้ามีเงินซัพพอร์ตของโรงพยาบาลก็ขอให้ช่วยอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามก็ทำให้เต็มที่
อย่างที่ 2 พัฒนาศูนย์เราเองเป็นต้นแบบ และก็จัดหาสถานที่ที่มีอยู่ ถ้าอยู่ใกล้กับสถานพยาบาลได้ก็ดี เอาพื้นที่ไหนที่เหลือ อย่างเช่นสวนลุมพินี ยังมีตึกว่าง ๆ อยู่ อยู่ไม่ไกลเข้า-ออกง่าย ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ ก็ไปใช้ได้หรือไม่ อยู่ในสวนเด็กเหล่านี้จะได้มาทำกิจกรรม แต่อย่าเพิ่งของบประมาณใหม่ในตอนนี้ เอาเท่าที่มีก่อน ช่วยดูแลสมาคมฯในฐานะที่เป็นเครือข่าย ถ้ามีเงินรายได้โครงการก็ขอไป อย่างน้อยตัวหลักต้องเดินได้ การของบประมาณจากภาครัฐไม่ทัน ต้องจัดซื้อจัดจ้างเขียนโครงการของบประมาณไม่ทันกับความต้องการที่จะทำ ถ้าเรามีแบบ Fondue ก็จะมีหน่วยงานต้องการช่วยเหลือ เราไม่หวังให้พ่อแม่ดูแล เป็นเรื่องของ Social Contract เป็นเรื่องพันธสัญญาของคนดูแลต้องดูแลคนทุกคนด้วยกัน
ต้อง Utilize พื้นที่ กทม. เรามีเยอะแยะเลย ที่ไม่ได้ใช้งาน หรือพื้นที่ว่างอยู่ อย่างที่บอก เช่น รพ. สิริธร มีเยอะแยะ ถ้าทำเยอะศูนย์ไม่ต้องมีอะไรมากมาย ทำแบบเป็นห้อง Container มีแอร์ ตกแต่งภายในมีห้องน้ำ ก็ทำได้ ไม่ต้องทำเป็นตึกมากมายใหญ่โตในช่วงเริ่มแรก ลองคิดว่านโยบายอยากทำอะไร เพราะเป็นสิ่งที่ดี เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม มีเครือข่ายมาช่วยกัน ในส่วนระยะยาวจะต้องมีการทำศูนย์ต่างหากสำหรับเด็กพิการ ที่เป็น Reference Center ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อาจเป็นเครือข่ายในวันใดวันหนึ่งเป็นแบบวชิรพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการดูแล เป็นระยาวเลย ทำ 3 สเต็ปนี้ ดูแล 10 ศูนย์ของสมาคมฯ ที่มีอยู่ ดูพื้นที่ที่มีอยู่ และพัฒนาเพิ่ม คือไม่ได้ไปแทนศูนย์นี้แต่เป็นการเสริมศูนย์ เช่นเป็นศูนย์สำหรับการพักผ่อนในสวน ศูนย์เรียนรู้นอกพื้นที่เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจเมื่อมาสวนลุมพินี เป็นพื้นที่ที่เค้าอยู่ได้ ผู้ว่าฯ ได้คุยกันสถานทูตอิตาลี ด้วยการออกแบบให้เด็กพิการมาเล่นได้ ออกแบบพื้นที่ให้สำหรับพวกเขา มาช่วยเสริมที่เรามีอยู่ ถ้าเราไม่ทำ จะมีใครทำ อย่างสวนลุมพินี มีตึกว่างทำเป็นสถานที่ให้เด็กพิการได้หรือไม่ มีเครื่องเล่นต่าง ๆ ให้มาอยู่ตรงนี้ เป็นที่ปลอดภัยสำหรับเขา อย่างประเทศอิสราเอล มีคนพิการเยอะ เขาจะเชี่ยวชาญและเสนอไอเดียให้กับกรุงเทพมหานคร โดยเขาจะเป็นคนออกแบบให้ แต่เราต้องไปหาสถานที่ให้ เรามีศูนย์ที่สวนลุมพินีรองรับคนได้วันละ 10,000 คน ศูนย์ต้องไปอยู่ในจุดที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของเรา การใช้พื้นที่สาธารณะ โดยใช้สวนสาธารณะที่มีพื้นที่สำหรับคนพิการ จัดที่จอดรถ ห้องน้ำ ต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพิ่มมิติการเพิ่มคุณค่าของเมือง ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เฉพาะคนปกติเท่านั้น
โดยให้ดูว่าศูนย์ฯ ของสมาคมฯ ที่มีอยู่ 10 ศูนย์ อยู่โซนไหน ที่โรงพยาบาลสามารถดูแลช่วยเหลือได้ เช่น การสนับสนุนบุคลากรเข้าไปตรวจสุขภาพ สำนักการศึกษาไปดูว่าเด็กคนไหนสามารถมาเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ สนับสนุนหนังสือให้ผู้ปกครอง จัดพื้นที่สำหรับน้อง ๆ คนพิการและครอบครัวสามารถมาพักผ่อน ในเบื้องต้น ให้จัดทำศูนย์เพื่อทำเป็นโมเดลว่าถ้าทำแล้วจะมีปัญหาหรือไม่ และเอามาปรึกษากัน ระยะยาวต้องหารือกับกับวชิรพยาบาลและนวมินทร์ว่าดูแลน้อง ๆ กลุ่มนี้ได้อย่างไร โดยมอบให้รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ
ทั้งนี้ สมาคมชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ หรือสปพ (Association of Parents for Children with Disabilities (Thailand): APCD) เป็นการรวมตัวของสมาชิกผู้ปกครองที่มีลูกพิการ รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและแก้ปัญหาความพิการ โดยสมาชิกจะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว จำนวน 10 แห่ง
สำหรับผู้ร่วมประชุมมี นายมณฑียร บุญตัน ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการประเทศไทย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
Share this: