วันนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการตรวจเชิงรุก COVID-19 (swab) ณ วัดวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง มอบเครื่องอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนในชุมชนหมาหลง ซอยพึ่งมี 31 แขวงบางจาก เขตพระโขนง และลงพื้นที่ตรวจมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในตลาด 3 แห่ง ในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย 1) ตลาดนัดหมู่บ้านมิตรภาพ ซอยอ่อนนุช 46 2) ตลาดกระเทียม ซอยอ่อนนุช 17 แยก 19 และ 3) ตลาดลักษณาพร ซอยอ่อนนุช 17 แยก 19 โดยมีคณะผู้บริหารเขตพระโขนงและเขตสวนหลวง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล
นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการตรวจเชิงรุก COVID-19 (swab) ณ วัดวชิรธรรมสาธิต ซอยสุขุมวิท 101/1 เขตพระโขนง ดำเนินการโดย สำนักงานเขตพระโขนง และศูนย์บริการสาธารณสุข 34 โพธิ์ศรี ร่วมกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ให้บริการตรวจคัดกรอง COVID-19 เชิงรุกแก่ประชาชน ด้วยวิธีการ SWAB ให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 – 20 มิ.ย.64 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. (เริ่มลงทะเบียนหน้างานได้ตั้งแต่เวลา 08.00-10.00 น. โดยไม่รับจองคิวล่วงหน้า) ให้บริการประชาชนวันละ 600 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้รับการตรวจจะได้ทราบผลจาก SMS ภายใน 1-2 วัน หลังการตรวจ ทั้งนี้ผู้รับการตรวจต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่เคยป่วยจากโควิด-19 และไม่เคยได้รับการการตรวจในรอบ 14 วัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพระโขนงอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การรับลงทะเบียน การคัดกรองเบื้องต้น การจัดลำดับคิวตรวจ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัดและลดความเสี่ยง สำหรับประชาชนที่สนใจรับบริการ ขอให้เตรียมบัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา ใบสูติบัตรตัวจริงพร้อมสำเนา(กรณีเป็นเด็ก) และเตรียมปากกาส่วนตัวสำหรับกรอกข้อมูลมาด้วย เพื่อลดการสัมผัสร่วมกันซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2311 3538 และ 0 2311 9873
ต่อมาในเวลา 13.30 น. รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เพื่อมอบเครื่องอุปโภค – บริโภค ส่งมอบความห่วงใย ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวน 47 หลังคาเรือน ประชากร 115 คน ในชุมชนซอยหมาหลง ซอยพึ่งมี 31 (สุขุมวิท 93) ซึ่งเป็นชุมชนหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานครแต่เป็นชุมชนพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั้งนี้เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งสิ่งของที่มอบในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากคุณณัฐสรา พิพัฒน์ธนนันท์ บริษัท ออโตเฟล็กซิเบิ้ล แอดวานซ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (AAE) และคณะ
จากนั้น เวลา 14.00 น. รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมมอบหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้กับผู้ประกอบการและผู้ค้าในตลาด 3 แห่ง พื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย 1) ตลาดนัดหมู่บ้านมิตรภาพ ซอยอ่อนนุช 46 2) ตลาดกระเทียม ซอยอ่อนนุช 17 แยก 19 และ 3) ตลาดลักษณาพร ซอยอ่อนนุช 17 แยก 19 พร้อมกำชับเจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาดทั้ง 3 แห่ง ให้ดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ครบถ้วน ได้แก่ 1. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมตลาด เช่น การระบายอากาศภายในตลาดให้เพียงพอ เหมาะสม ไม่มีกลิ่นเหม็นอับ โดยความสูงของหลังคาต้องมีความเหมาะสมกับการระบายอากาศของตลาด 2. เจ้าของ ผู้ประกอบการต้องจัดทำบัญชีทะเบียนผู้ค้าและลูกจ้าง 3. ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการและต้องกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 4. ควบคุมดูแลให้ผู้ค้า ลูกจ้างแผงค้า และผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 5. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 6. ให้เว้นระยะห่างของแผง ระยะนั่งหรือยืน ระยะห่างในการเลือกสินค้าและการชำระค่าสินค้าอย่างน้อย 1 เมตร 7. ควบคุมจำนวนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการมิให้เกิดความแออัด หรือลดเวลาอยู่ในตลาดให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น 8. ควบคุมทางเข้าออก และมีมาตรการคัดกรองอาการป่วยไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ค้า และลูกจ้างแผงค้า ตามขีดความสามารถ และ 9. ใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หมอชนะ ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลในเอกสาร ซึ่งมาตรการดังกล่าวทั้งหมดจะได้รับการตรวจประเมินจากเจ้าหน้าที่กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หากปฏิบัติได้ครบถ้วนและถูกต้อง จึงจะสามารถเปิดทำการค้าในตลาดได้ รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเขตพื้นที่ ตรวจแนะนำและควบคุมกำชับให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และผู้ใช้บริการในตลาดปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร