เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของแต่ละปีจะมีการจัดงานหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประเพณี และวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ มีการเล่นสาดน้ำ ประแป้ง มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมากและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการประชุม ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564
จึงมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 10 -15 เม.ย 2564
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมติของคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.ดังกล่าว ออกประกาศมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ โดยกิจกรรมพื้นฐาน อาทิ การจัดพิธีสรงน้ำพระรวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ให้ผู้จัดกิจกรรมและประชาชนปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปีดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 ก.พ 2564 โดยเคร่งครัด กรณีมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 300 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน
2. การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์โดยมีกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมพื้นฐานตามข้อ 1 เช่น การออกร้าน การจัดเลี้ยง ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 100 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน
ทั้งนี้ ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเสี่ยงการจัดกิจกรรมพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม
3. ควรหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงและสังสรรค์ในกลุ่มที่มาหลากหลายพื้นที่และควรงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat