10 กุมภาพันธ์ 2564
| โดย [บทบรรณาธิการ]
46
หนี้ของกรุงเทพมหานครขณะนี้ต้องแบกกว่าแสนล้านบาท เป็นหนี้ค้างกลุ่มบีทีเอส 3 หมื่นล้าน ที่ต้องชำระในวันที่ 1 เม.ย.64 และภาระที่รับโอนมาจาก รฟม.อีก 6 หมื่นล้านบาท วันนี้จึงหมดเวลาที่ กทม. กระทรวงมหาดไทย รัฐบาล เลือกซื้อเวลาไปเรื่อยๆ แล้ว และเร่งหาทางออก
ต้องบอกว่าหนี้ของกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในบริษัทลูก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) ณ วันนี้นั้นต้องแบกกว่าแสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากพิจารณายอดหนี้จำนวนดังกล่าว กับสินทรัพย์หรือศักยภาพของเมือง กทม.ที่คนรับรู้ระดับโลก ที่สนใจของนักท่องเที่ยวแล้ว ต้องบอกว่ามูลค่าไม่มากนัก จัดการบริหารทางการเงิน เคลียร์หนี้ได้สบายๆ แต่หากเราเข้าไปเจาะข้างใน ปัญหาที่ดำรงอยู่ต้องบอกว่าไร้อนาคต และหากปล่อยให้เดินไปแบบไร้แผน ไม่มีทางออกเช่นวันนี้แล้ว ต้องบอกว่า เส้นทาง กทม.จะล้มละลายเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
บอกแบบนี้ ไม่ใช่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากหันมาดูผู้รับผิดชอบตั้งแต่ผู้ว่า กทม. รัฐมนตรีมหาดไทยที่กำกับดูแล และคณะรัฐมนตรี ที่ต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย ดูเหมือนจะเลือกซื้อเวลาไปเรื่อยๆ และไม่ใช่เพิ่งจะซื้อเวลาตอนนี้ แต่ได้ล่าช้ามาเกือบ 2 ปีแล้ว พร้อมๆ กับหนี้สินที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อ กทม.ตัดสินใจเลื่อนเก็บค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียวออกไปอีกไม่มีกำหนด หลังจากเดิมจะเก็บ 104 บาท เริ่ม 16 ก.พ.2564
ซึ่งนั้นหมายความว่าประชาชนนั่งฟรีกันต่อไป แต่มาพร้อมกับทุกข์ของ กทม. ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องจ้างกลุ่มบีทีเอสเดินรถ ซึ่งมีการคำนวณกันว่าต้องจ้างเดือนละ 600 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อไม่มีรายได้เข้ามา เท่ากับว่าหนี้มีขาเพิ่มขึ้น สะสมไปเรื่อยๆ บวกกับกลุ่มบีทีเอส เริ่มทนแบบภาระไม่ไหวแล้ว หลังจากที่ออกเงินไปก่อนมาจะ 2 ปีแล้ว ได้ยื่นโนติสทวงหนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 ก.พ.2564 เรื่องการชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
สำหรับหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 แยกเป็นหนี้ค่าเดินรถ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือน มี.ค. 2564 คิดเป็นเงิน 20,768,979,836.13 บาท ทั้งนี้ให้ชำระภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับ 1 ก.พ. นั้นเท่ากับว่าจะครบต้องชำระในวันที่ 1 เม.ย.2564 และในหนังสือยังระบุ หากไม่จ่ายบริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมาย
เราเห็นว่าหากปล่อยไปเรื่อยๆ โดย กทม. กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ไม่ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง หนี้ที่ค้างกลุ่มบีทีเอส จะเพิ่มจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 4.4 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอีก 2 ปี หรือครบเทอมรัฐบาลนี้ โครงสร้างหนี้รวมของ กทม.เมื่อรวมกับภาระที่รับโอนมาจาก รฟม.อีก 6 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าในระยะต่อไป กทม.จะแบกหนี้เกินแสนล้านบาท
อย่างที่บอกหากมีแนวทางแก้ คงไม่ยากกับมูลค่าหนี้แค่นี้ แต่หากยังเลือกซื้อเวลาเรื่อยๆ องค์กรปกครองพิเศษ ถูกฟ้องล้มละลายได้ จริงอยู่รัฐบาลกลางคงไม่ปล่อยให้เกิดแบบนั้น แต่แค่ออกข่าวไปว่าเอกชนฟ้องกรุงเทพมหานคร ที่คนทั้งโลกรู้จักดี ภาพลักษณ์ประเทศไทยคงแย่ไม่ทั่วโลก ดังนั้นวันนี้ยังมีเวลาเลือกแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่ง 1.เก็บค่าโดยสารตามความเหมาะสม 2.ต่อสัมปทานบีทีเอสเพื่อล้างหนี้ 3.เก็บค่าโดยสารอัตราต่ำ แต่รัฐบาลต้องหาเงินมาอุดหนุนรายปี ชดเชยค่าโดยสาร ถึงวันนี้รอเพียงความกล้าผู้นำเท่านั้น กทม.ถึงจะรอด