‘กทม.’ เผยผลจัดเก็บภาษีที่ดินได้กว่า 1.3 หมื่นล. ยังมียอดค้างอีก 1 พันล. แจ้งระงับทำธุรกรรมจนกว่าจะจ่าย
แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 เป็นปีแรกที่จัดเก็บในอัตรา 100% โดย กทม.สามารถจัดเก็บได้กว่า 13,000 ล้านบาท และมีลูกหนี้ค้างจ่ายอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้ ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มียอดค้างจ่ายมากสุดเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประมาณ 200 ล้านบาท ที่ยังไม่มาชำระภาษี เนื่องจากได้ยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ขอให้พิจารณายกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณา
“ในปี 2565 มีธุรกิจขอผ่อนชำระภาษีอยู่มากพอสมควร เพราะรายได้ยังไม่กลับมาเป็นปกติจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นปีแรกที่ต้องจ่าย 100% ด้วย ซึ่งลูกหนี้ที่ค้างภาษีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เราทำตามขั้นตอนกฎหมาย โดยแจ้งให้สำนักงานที่ดินสาขากรุงเทพมหานครระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินแล้วจนกว่าจะมาชำระภาษี” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนในปี 2566 ยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะมีการผ่อนชำระมากหรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยเพิ่มขึ้น นอกจากเสียภาษี 100% แล้ว ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีเรื่องสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมเหลือขายเกิน 3 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง จะต้องจ่ายอัตราภาษีที่ดินประเภทอื่นๆ หรือพาณิชยกรรมตั้งแต่ 0.3-0.7% ของมูลค่า หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ใช้ประโยชน์ใน 3 ปี ต้องจ่ายเพิ่ม 0.3% จากปัจจุบันเก็บอยู่ 0.3-0.7% ของมูลค่า
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 กทม.จะแจ้งรายบัญชีและรายการทรัพย์สินให้กับผู้ต้องชำระภาษีในเดือนพฤศจิกายน 2565 จากนั้นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 แจ้งอัตราภาษีและราคาประเมินทุนทรัพย์ตามที่กรมธนารักษ์ประกาศ และให้ชำระภาษีในเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้ รอดูว่ากระทรวงการคลังจะมีนโยบายขยายเวลาการชำระภาษีเหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากไม่มาชำระภายในเวลาที่กำหนดจะมีเบี้ยปรับ 10% ของค่าภาษี หากชำระก่อนออกหนังสือแจ้งทวงถาม, เบี้ยปรับ 20% ของค่าภาษี มาชำระในวันที่กำหนดไว้ในหนังสือทวงถาม และ 40% ของค่าภาษี มาชำระเกินวันที่กำหนดไว้ในหนังสือทวงถาม อีกทั้งยังมีเงินเพิ่ม 1% ของค่าภาษีต่อเดือนที่ค้างชำระ และมีบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม อายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาด ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน จนกว่าจะมีการชำระภาษี
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่