บอร์ดสำนักงานตลาด กทม. ไฟเขียวตลาดนัดจตุจักร เปิดแผงค้าขายได้สัปดาห์ละ 6 วัน ดึงคนช้อป ลดผลกระทบจากพิษโควิดและเศรษฐกิจชะลอตัว
วันที่ 25 มี.ค. 2564 นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้นักท่องเที่ยวรวมทั้งลูกค้าชาวไทยเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดนัดขาดหายไป
ส่งผลให้ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรกว่า 1 หมื่นแผงค้าได้รับผลกระทบ พล.ต.อ.อัศวินขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ให้คณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาด กทม. จัดทำมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการค้าของผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคณะกรรมการบริหารฯ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 4/2564 กำหนดมาตรการส่งเสริมการทำการค้าในตลาดนัดจตุจักร ดังนี้
มาตรการที่ 1 อนุญาตให้มีการค้าในวันธรรมดา และขยายเวลาปิดแผงค้าให้สามารถค้าขายในเวลากลางคืนด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาสัญญาให้สิทธิแผงค้าในตลาดนัดฯ กำหนดให้เปิดทำการค้าในวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเพิ่มเติม เท่ากับมีเวลาค้าขาย 2 วันในแต่ละสัปดาห์
คณะกรรมการบริหารฯ จึงพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ผู้ค้าสามารถทำการค้าในวันธรรมดาได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเพิ่ม คือ ในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ประกอบกิจการค้าขายในแผงค้าได้ถึงเวลา 18.00 น. ส่วนวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ค้าขายในแผงค้าได้จนถึงเวลา 22.00 น. เว้นวันจันทร์ที่ห้ามทำการค้า เพื่อทำความสะอาดพื้นที่และแผงค้า รวมทั้งขุดลอกรางระบายน้ำ
มาตรการที่ 2 ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแผงค้าได้ทุกแผงค้าโดยสะดวก พร้อมจัดลานกิจกรรมส่งเสริมการขาย สืบเนื่องจากผู้ค้าที่มีแผงค้าภายในร้องเรียนว่า ลูกค้าและประชาชนไม่นิยมเดินเข้าไปในแผงค้าด้านใน เพราะทางเดินไม่สะดวก
โดยปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและแผงค้าส่วน ที่รุกล้ำริมรางระบายน้ำในตลาดนัดออกทั้งหมดแล้ว ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีทางเดินสำหรับเลือกซื้อสินค้าได้โดยสะดวก และตลาดนัดจตุจักรกำลังจะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและแผงค้า ที่รุกล้ำบริเวณริมรั้วด้านในออกทั้งหมด แล้วปรับปรุงให้มีทางเดินรอบรั้วด้านใน
นอกจากนั้นยังปรับปรุงทางเดินในซอยในโครงการ ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางการเดินเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงทางกายภาพอื่น ๆ เช่น ไฟส่องสว่าง และทางเดิน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมษายน ซึ่งจะสามารถเปิดให้ค้าขายเพิ่มเติมตามวันและเวลาข้างต้นได้
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารฯ เห็นว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ค้าทุกแผง จะต้องมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าให้มากขึ้น โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณรอบหอนาฬิกาอย่างสม่ำเสมอ เช่น กิจกรรมพันธุ์ cactus (กระบองเพชร) เทศกาลของขวัญ (giftshop) เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเดินเข้าไปเลือกชมสินค้าในแผงค้าด้านในมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรที่มีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นแผงค้า ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตลาดฯ โดยให้เลือกผู้แทนผู้ค้าตามที่มีการแบ่งแผงค้าเป็น 31 โซน ๆ ละ 1 คน มาร่วมเสนอความเห็นเกี่ยวกับการประกอบการค้าและกฎระเบียบของตลาดนัดจตุจักร
โดยเฉพาะประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน เช่น การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้รถเข้ามาจอดในตลาดนัดฯ ได้แค่ไหนเพียงใด รวมทั้งให้ความเห็นเรื่องอื่น ๆ เช่น การจะใช้มาตรการต่อผู้ค้าที่ปิดแผงค้าไม่ยอมมาค้าขายเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ การเข้าบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้กรุงเทพมหานครเข้ามาดำเนินการให้ตลาดนัดจตุจักรมีความเจริญรุ่งเรือง ทำให้ผู้ค้าสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างดี ซึ่งลำพังกรุงเทพมหานครแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถผลักดัน และทำให้กิจการของตลาดนัดจตุจักรเจริญก้าวหน้าได้ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรด้วย
โดยเฉพาะการที่ทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เพื่อส่วนรวม การจัดหาและจัดวางสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลอดจนมีส่วนร่วมพัฒนาตลาดนัดจตุจักรให้มีความพร้อมสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวให้อยากเข้ามาจับจ่าย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศต่อไป