กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเป็นประธานประชุมโครงการ ‘สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า’
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน ตลอดจนผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์
ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 – 31 ม.ค. 65 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 – 8 ประกอบด้วย ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ประกอบด้วย ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดอุดรธานี ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดนครศรีธรรมราช
ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการติดตาม และประเมินผล และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้รายงานเรื่องศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่า กรุงเทพมหานครมีสถานที่ควบคุมและพักพิงสุนัข 2 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (เขตประเวศ) พื้นที่ 13 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนสุนัข จับสุนัขออกจากพื้นที่สาธารณะ กักกัน ควบคุมโรค เป็นระยะเวลา 14 วัน จากนั้นจะส่งไปยังศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (จังหวัดอุทัยธานี) โดยในปี 2563 ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (เขตประเวศ) รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 1,384 ตัว ปี 2564 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 341 ตัว ปี 2565 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 53 ตัว (ข้อมูลวันที่ 1 ม.ค. – 4 ก.พ. 65) ปัจจุบันดูแลสัตว์ จำนวน 16 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ. 65)
และ 2. ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี) พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อเป็นที่พักพิงของสุนัขจรจัดให้ได้รับการเลี้ยงดูจนสิ้นอายุขัย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 รองรับสุนัข 6,400 ตัว ซึ่งในปี 2563 ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี) รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 1,052 ตัว ปี 2564 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 275 ตัว ปี 2565 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 37 ตัว (ข้อมูลวันที่ 1 ม.ค. – 4 ก.พ. 65) ปัจจุบันดูแลสัตว์ จำนวน 3,573 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ. 65)
อนึ่ง เนื่องจากศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) มีสถานที่คับแคบ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เพื่อปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ให้เป็นคอกสุนัขต้นแบบของการพักพิงสุนัขอย่างถูกสุขลักษณะ และเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับสุนัข พร้อมคัดกรองโรคก่อนส่งต่อไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขจรจัด (อุทัยธานี) โดยได้มีการแบ่งผังโครงการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์ฯ ให้มีความเป็นสัดส่วนดังนี้ 1. อาคารกลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข (ชั้น 1 เป็นคลินิกรักษาสัตว์) 2. อาคารเก็บอาหาร 1 หลัง 3. อาคารคอกเลี้ยงสุนัข 18 หลัง รองรับสุนัข 1,000 ตัว 4. อาคารคอกเลี้ยงแมว 3 หลัง รองรับแมว 300 ตัว
5. อาคารและเตาเผาสุนัข 1 หลัง โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา 540 วัน เริ่มสัญญา 20 ม.ค. 64 สิ้นสุดสัญญา 11 ต.ค. 65 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงมีการขยายระยะเวลาก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2566 ด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน กรุงเทพมหานครพบผู้เสียชีวิตจากพิษสุขบ้ารายสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 59 โดยไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 5 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64 จากกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข) ในส่วนของการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ กรุงเทพมหานครพบสัตว์ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าครั้งล่าสุดในพื้นที่เขตสายไหม เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 62 และไม่พบสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ารวมระยะเวลา 2 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64)
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่