เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานคร มีการรายงาน 70 คลัสเตอร์ ใน 35 เขต โดยเขตที่มีรายงานเพิ่มเติมวันนี้ คือ เขตดินแดง บริษัท ประยุกต์สปอร์ต ซัพพลาย จำกัด ตรวจหาเชื้อพนักงาน 120 ราย พบติดเชื้อ 54 ราย โดยทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ดำเนินการปิดบริษัท ตั้งแต่วันที่ 4-18 มิ.ย. โดยผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ระหว่างรอการส่งต่อก็มีมาตรการแยกกักอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม กทม.จะรายงานรายละเอียดสถานการณ์และบริเวณชุมชนใกล้เคียง ซึ่งสามารถเข้าไปติดตามในเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) คือ มาตรการป้องกันการระบาดในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง ซึ่งทั่วกรุงเทพฯมีแคมป์ที่จดทะเบียน รวม 409 แคมป์ แรงงานในระบบราว 6.2 หมื่นคน โดยที่ผ่านมาเราได้เฝ้าระวัง ผ่านคณะกรรมการเขต ผู้อำนวยการสำนักงานเขต เพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าของแคมป์ ใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and seal) เพื่อให้ยังทำงานได้แต่ไม่แพร่กระจายเชื้อไปยังชุมชน พบว่าแต่ละแคมป์มีความเข้าใจไม่ตรงกัน บางแห่งมีคนเดินทางออกไปชุมชนบ้าง สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาตรการ รายละเอียด เพื่อให้แต่ละแคมป์ศึกษา
“ในวันพรุ่งนี้ กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะลงตรวจเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ มีการตรวจในทุกแคมป์ ผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ (ศบส.) ลงตรวจทุกแคมป์ในพื้นที่ เน้นในแคมป์ที่มีแรงงานเกิน 100 ราย เป็นหลัก สุ่มตรวจด้วย RT-PCR แห่งละ 75 ราย โดยเฉพาะแคมป์ที่มีแรงงานต่างชาติ แรงงานหมุนเวียนตามฤดูกาล การลงตรวจหมายความว่าไม่ได้ทำเฉพาะในแคมป์ที่ติดเชื้อ แต่เป็นการเฝ้าระวัง และมีระบบรายงานตามมาตรการ แยกกัก กักกันโรค เพื่อไม่ให้คนที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีการปรับมาตรการให้ละเอียดมากขึ้น สอบทวนกับแคมป์ต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน จากนี้จะมีการเฝ้าระวัง กำกับให้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง และจะนำเสนอเป็นระยะต่อไปว่าหากเราควบคุมด้วยมาตรการเข้มข้นสูงสุดแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อ กทม.ก็น่าจะลดลง ซึ่งขอให้ประชาชนติดตามหลังจากนี้
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุมพูดคุยกันถึงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งประเทศประมาณ 2 แสนราย เฉพาะ กทม.ประมาณ 7 หมื่นราย โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด อนุมัติขยายเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานกลุ่มดังกล่าว จนถึงเดือน ก.ย.2564 จึงขอความร่วมมือกับนายจ้าง ร้านอาหาร โรงงาน แคมป์คนงาน หรือจ้างแรงงานดูแลผู้สูงอายุ ให้พาแรงงานเข้าสู่ระบบ และการไปตรวจสุขภาพ
“แม้เร็ววันนี้โควิดจะหมดไป แต่อาจจะต้องเผชิญการแพร่ระบาดโรคอื่นๆ หรือเฝ้าระวังควบคุมโรคในแรงงานที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ถือว่าเป็นภัยของประเทศชาติ ต้องขอความร่วมมือนายจ้าง โดยกรมการจัดหางานจะรับเป็นเจ้าภาพประสานและติดตามเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือการเข้าระบบ แรงงานต้องมีนายจ้าง มีการขึ้นทะเบียน ตรวจสุขภาพ นำไปสู่การจัดสวัสดิการที่เหมาะสม บ้านพัก สิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาวะให้อยู่ในประเทศไทย ทำงานมีสุขภาพดีแข็งแรง ไม่ทำให้การควบคุมโรคระบาดในอนาคตเป็นเรื่องยากเย็นในปัจจุบัน” พญ.อภิสมัยกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่