เผยแพร่:
ปรับปรุง:
คจร.เคาะ ปฏิรูปรถเมล์ 126 เส้นทาง ติงค่าโดยสาร 30 บาท/วัน ไม่คุ้มค่ากับประชาชนบางกลุ่ม “ศักดิ์สยาม”รับปรับเพิ่มตั๋วตามระยะทาง แผนฟื้นฟู จ่อเข้าครม.รอแค่ความเห็นสศช.พร้อมเดินหน้า M-Flow หารือตำรวจรับมือพวกเบี้ยวค่าผ่านทาง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 1 ก.พ. ได้เห็นชอบแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการจัดระบบการจราจรทางบก และลดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งเส้นทางรถเมล์ตามแผนฟื้นฟู องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 162 เส้นทางแบ่งเป็น ขสมก.108 เส้นทาง เอกชน 54 เส้นทาง โดยให้กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ขสมก.บูรณาการร่วมกันในการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรองรับการขยายตัวของเมืองและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นตามความจำเป็น ในอนาคต
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในที่ประชุมได้สอบถาม 2 ประเด็นคือ เรื่องอัตราค่าโดยสาร 30 บาท/วันแบบไม่จำกัดเที่ยวว่าตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มหรือไม่ โดยกังวลว่าอาจจะไม่คุ้มค่ากับผู้โดยสารบางกลุ่ม และจำนวนรถอาจไม่เพียงพอกับการใช้บริการ
ซึ่งในประเด็นค่าโดยสาร ควรมีการกำหนดค่าโดยสารรายวันประมาณ 30 บาท (Single Price) และให้มีการคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางจริง สำหรับราคาที่จ่ายน้อยกว่าอัตราค่าโดยสารรายวัน โดยคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง จะพิจารณาอัตราค่าโดยสารเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอัตราอื่นให้ครอบคลุมกับทุกกลุ่ม ส่วนการเดินรถจะนำข้อมูลการเดินทางจากระบบ E-Ticket มาวิเคราะห์เพื่อจัดสรรการเดินรถได้เหมาะสมกับความต้องการเดินทางในแต่ละเสนทางและแต่ละช่วงเวลา
“หลังจากนี้จะนำมติคจร. ประกอบไปกับแผนฟื้นฟูขสมก. ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงรอคำตอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรณีแผนการลงทุน หมายถึงอย่างไรและต้องมีการอนุมัติแผนลงทุนก่อนที่จะเสนอแผนฟื้นฟูขสมก.ต่อครม.หรือไม่ เมื่อมีคำตอบชัดเจน จะนำเสนอครม.พิจารณาแผนฟื้นฟูขสมก.ต่อไป”
@เดินหน้า M-Flow -ประสานตำรวจรับมือพวกเบี้ยวค่าผ่านทาง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง (ทล.) และการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการบูรณาการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินมาตรการที่เข้มงวด และมอบให้กระทรวงคมนาคม โดย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทล. และ ขบ. บูรณาการร่วมกันในการศึกษาแนวทางและดำเนินมาตรการอื่นเพิ่มเติม รวมถึงดำเนินการออกกฎระเบียบหรือการแก้ไขกฎระเบียบที่จำเป็น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อน ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนแผนต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดรวมถึงการร่วมพิจารณาการบรรจุโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล