สธ.ชี้คนกรุงการ์ดเริ่มตก ใส่หน้ากากอนามัย “ไม่ถูกต้อง-ไม่ใส่” เพิ่มขึ้น เตือนอย่าย่อหย่อนมาตรการป้องกันตัวเอง แม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้น
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการนำระบบ เอไอ มาใช้ในเกิดในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย โดยใช้กล้อง CCTV 30 เขตในกรุงเทพฯ 31 จุด พบว่า คนกรุงการ์ดเริ่มตก ทั้งใส่หน้ากากอนามัยลดลง ใส่วิธีและไม่ใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการตรวจจับด้วยระบบเอไอ ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึง 4 มกราคม 2564 พบว่า ประชาชนใส่หน้ากากถูกต้อง 96.03% ลดลง 1.10% จากการสำรวจครั้งก่อน และใส่ไม่ถูกต้อง 2.36% เพิ่มขึ้น 0.70% รวมทั้งพบว่า ไม่ใส่หน้ากากอนามัย 1.61% เพิ่มขึ้น 0.40%
สำหรับเขตที่มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยได้อย่างถูกต้องมากกว่า 90% อยู่ที่ 17 เขต ส่วนเขตมีการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องอยู่ระหว่าง 90-95% อยู่ที่ 11 เขต และมีการใส่หน้ากากอนามัยถูกต้องน้อยกว่า 90% อยู่ที่ 2 เขต ได้แก่ เขตยานนาวา และเขตบางคอแหลม ซึ่งช่วงที่มีการใส่หน้ากากน้อย หรือใส่ไม่ถูกต้อง มักจะอยู่ช่วงเย็นของแต่ละวัน
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีแนวโน้มดีขึ้น โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 แสนรายต่อวัน ลดลงจากช่วงปลายปี 63 ที่เฉลี่ย 6.5 แสนรายต่อวัน ขณะที่มีการฉีดวัคซีนทั่วโลกแล้ว 300 ล้านโดส
ส่วนสถานการณ์ในประเทศ มีภาวะทรงตัวต่ำกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรองรับได้ โดยพบการติดเชื้อในพื้นที่ 7 จังหวัด ลดลงจาก 11 จังหวัดในสัปดาห์ก่อน
ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 00.00 น. พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ อยู่ที่ 71 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 48 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย
จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ 48 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ 11 ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 7 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,441 ราย
หากแยกเป็นรายจังหวัด พบการติดเชื้อในประเทศ ที่จังหวัดสมุทรสาคร 40 ราย กรุงเทพฯ 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย ตาก 2 ราย และปราจีนบุรี 3 ราย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- บิ๊กตู่ สั่ง สธ.เตรียมวางแนวทาง พาสปอร์ตวัคซีน เปิดเที่ยวไทย
- ยังไม่นิ่ง! โควิด สมุทรสาคร วันนี้ ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 40 ราย
- ฉีดวัคซีนต้องรู้! อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ต่างจากอาการแพ้ อย่างไร