ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินใจผ่อนปรนหรือคลายล็อกให้สารพัดธุรกิจ กิจกรรมต่างๆสามารถทำงานได้คล่องตัวมากกว่าเดิม โดยให้มีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 18,000 ราย ซึ่งการผ่อนคลายหรือคลายล็อกดังกล่าวไม่ได้เป็น เหมือนกันทุกพื้นที่ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จะพิจารณา ตามความเหมาะสม
ในเมืองเล็กๆชนบทตามป่าเขา ท้องไร่ท้องนา คงไม่ได้กระทบกระเทือนหรือได้เสียอะไร มากนัก แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร นั้นมีข้อสงสัยว่าถ้าคลายล็อกแล้วจะคุ้มค่ากับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมาหรือไม่ และมีคำถามต่อว่าถ้ามีการติดเชื้อเพิ่มเติมจากมาตรการคลายล็อกอีกแล้วใครจะรับผิดชอบ
สำหรับกรุงเทพมหานคร ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่าฯ กทม. ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เรื่อง การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 18) เนื้อหาโดยสรุป คือ ให้มีการผ่อนคลายเปิด 37 กิจการ พร้อมออกมาตรการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ค “ผู้ว่าฯ อัศวิน” โพสต์ข้อความระบุว่า ผ่อนคลายมาตรการ โควิด-19 เริ่ม 1 ก.พ. 2564 ตามมติ ศบค. ให้ กทม. และ 3 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
โดยให้ร้านอาหาร นั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม งดดื่มสุราในร้าน การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุรา และงดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ การเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม ให้จัดแบบผสมผสาน On-Site Online On-Air งดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีติดเชื้อในพื้นที่ กทม. ทั้งตบท้ายว่า ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
มีคำถามว่ามาตรการคลายล็อกนั้นดีหรือไม่ คนบางกลุ่มอาจจะเฉยๆ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะชินชากับพฤติกรรมนิว นอร์มอลแล้ว แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะบอกว่าดียอดเยี่ยม เพราะเป็นการเปิดทางให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนหมุนเวียน สร้างความคึกคักให้สังคม ได้ดีกว่าเดิมประชาชนไม่ต้องอึดอัดในการดำรงชีพจากมาตรการเข้มข้นดังกล่าว แต่บนความยอดเยี่ยมนั้น ก็มีความห่วงใยว่า ธุรกิจ ธุรกรรมที่ถูกกฎหมาย ที่ได้รับการผ่อนปรนให้คลายล็อกนั้น อาจจะเลยเถิดไม่ยอมปฏิบัติตามกติกาเล็กๆ น้อยๆ อีก
เพราะก่อนหน้านี้กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ประสานงาน ร่วมกับ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ ประเภทผับ บาร์ และคาราโอเกะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
จากการลงพื้นที่พบว่า มีสถานประกอบการ สถานบริการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยฝ่าฝืนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 16) ถึง 3 ร้านในย่านธุรกิจทำเลทอง
ไม่ต้องไปพูดถึงธุรกิจธุรกรรม ที่ผิดกฎหมาย พวกเห็นแก่ตัวเพราะในกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าจะผ่อนปรนหรือคลายล็อกและมีให้เห็นถูกดำเนินคดีอยู่บ่อยๆ อาทิ การไปสุมหัวในบ่อนการพนัน การสุมหัวเสพยาเสพติด ซึ่งการคลายล็อกในหนนี้ แม้ทางเจ้าหน้าที่จะคุมเข้ม แต่ก็ยังเป็นหน้าที่ของประชาชนด้วยเช่นกันในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด และต้องช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางภาครัฐเพื่อไม่ให้ธุรกิจ ธุรกรรมใดฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะถ้าพลาดไปมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น สุดท้ายก็ต้องรับกรรมร่วมกัน