“104 บาท ไม่แพงไปเหรอ” แคปชันโดนใจคนกรุง บนหน้าโปรไฟล์ “Saree Aongsomwang (Saree Aong-somwang)”… สารี อ๋องสมหวัง #เลือกข้างผู้บริโภค #ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง…ผู้คร่ำหวอดในแวดวงคุ้มครองผู้บริโภคมานานหลายสิบปีแล้ว
พร้อมโพสต์เปิดสมอง จุดพลังจักระ เชิงตั้งคำถาม? …“นี่เป็นขบวนการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ล่วงหน้า 38 ปี ใช่หรือไม่”
1.ใช้อำนาจพิเศษสั่งให้กรุงเทพมหานครไปศึกษา ต่อรอง เจรจา ว่าราคาเท่าใด โยนหินถามทางผู้บริโภคว่า…ราคาตลอดเส้น 65 บาท รับได้หรือไม่ แต่ถูกคัดค้านในคณะรัฐมนตรี
2.ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครประกาศราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพง 104 บาท เพื่อทำให้เห็นว่า จริงๆราคาต้อง 104 บาท กทม.ถึงจะอยู่ได้ ถูกคัดค้านอย่างหนัก จนต้องออกประกาศยกเลิก
3.ขาดทุนไม่มีเงินจ่ายหนี้ หนี้ค่าจ้างวิ่ง หนี้รับโอนทรัพย์สินสินเดิม 8,800+ล้านบาท
4.บริษัท BTS ทวงหนี้และยื่นโนติส กรุงเทพมหานคร ให้จ่ายหนี้
5.ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครยกเลิก 104 บาท มีการให้ข่าว หากต่อสัญญาได้ ราคาจะถูกลง 65 บาท ซึ่งตัวเลขมาจากไหนไม่มีใครรู้
6.ไม่โปร่งใส ไม่มีใครเห็นสัญญาสัมปทาน ไม่มีใครเห็นข้อมูล แม้แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล หรือกรรมาธิการคมนาคม หรือกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค
ป.ล.กทม.รับไม่มีเงินจ่ายหนี้ BTS 3 หมื่นล้าน คาดผู้โดยสารสายสีเขียววูบ 30%
นับเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 กรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ประกาศว่าจะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท (ชั่วคราว) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“องค์กรผู้บริโภค” เห็นว่า การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการออกประกาศโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภค ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมาย…
…ไม่เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารแพงเกินไปเป็นภาระของผู้บริโภคเร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระผูกพันต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานถึง 39 ปี
อีกทั้งการประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครโดยไม่รอผลการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี ยังเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กรุงเทพมหานครต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
และ…กำหนดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 96 ที่กำหนดให้การอนุมัติขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประเด็นสำคัญมีว่า…เงื่อนปมปัญหาที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงปัญหาการบริหารงานของกรุงเทพมหานครที่ขาดประสิทธิภาพและหลักธรรมาภิบาลต่อรัฐ…ประชาชน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภคในปัจจุบัน?
ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเหมาะสมเป็นธรรม
เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
ข้อแรก…ขอให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าโดยสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน เพื่อดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้นจากราคาที่ถูกลงในวิกฤติมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM2.5ในปัจจุบัน
ข้อที่สอง…ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
ก่อนที่… “คณะรัฐมนตรี” จะมีมติให้ความเห็นชอบ
ข้อที่สาม…ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคต เพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น…เป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคน
รวมถึงยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ
ข้อที่สี่…ขอให้กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้
ข้อสุดท้าย…ขอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค
ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานครท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ในวันนี้ สารี ย้ำว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้นโยบายสั่งเลื่อนการเก็บค่าโดยสาร 104 บาท เนื่องจากการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค รับฟังเสียงผู้บริโภค
สำหรับข้อเสนอระยะยาว ขอให้คิดค่าโดยสารตลอดสายไปกลับไม่เกิน 33 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันและมีการบริหารจัดการตั๋วร่วมของรถไฟฟ้า…ขอให้เร่งดำเนินการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท ได้แก่ บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร
และ…ขอให้เร่งดำเนินการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของทั้งระบบบริการขนส่งมวลชน
ย้ำชัด “รถไฟฟ้า (ไทย)” ต้องเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ “ทุกคน” ขึ้นได้…ไม่ใช่ราคาแพงที่สุดในโลก?