อนุฯ กมธ.คมนาคมทางน้ำ รับเรื่องร้องทุกข์ ปชช. 4 จังหวัด แก้ปัญหาน้ำเค็มหนุน โดยเฉพาะ กทม. ทำค่าความเค็มน้ำปะปา สูงเกินมาตรฐาน เตือนควรเลี่ยงบริโภค ชี้เร่งแก้ปัญหายั่งยืน แนะสร้างเขื่อนกรุงเทพฯไม่จม ตามแบบ “เนเธอร์แลนด์” ล่าชื่อ 20 ส.ส.ยื่นญัตติด่วนแก้ไข คาดส่งสภาพรุ่งนี้
เมื่อวันนี้ 4 ก.พ.64 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และโฆษกอนุกรรมาธิการคมนาคมทางน้ำ พร้อมด้วย นายภูดิท อินสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร พรรคพลังประชารัฐ ประธานอนุกรรมาธิการคมนาคมทางน้ำฯ นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันรับเรื่องร้องเรียนของพ่อแม่พี่น้องประชาชน
โดย นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้ปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สระบุรี มีปัญหาเรื่องน้ำเค็มหนุนเข้ามา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯนั้น มีพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำไปบริโภคได้ ซึ่งทางการประปาก็ได้มีการประกาศเตือนเรื่องควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยทางสมอง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เพราะหากได้รับปริมาณโซเดียมหรือความเค็มเกินปริมาณที่สามารถบริโภคได้ นอกจากนี้ทางประปายังเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวัง การนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขามาใช้กับพืชทุกชนิดด้วย เพราะค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินมาตรฐาน 1.2 กรัมต่อลิตร ซึ่งที่สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำต่างๆวัดได้ ทั้ง ย่านดาวคะนอง ค่าความเค็ม 7.2 กรัมต่อลิตร บางกอกใหญ่ 9.6 กรัมต่อลิตร เทเวศร์ 10.6 กรัมต่อลิตร บางเขนใหม่ 6.6 กรัมต่อลิตร ทั้งหมดนี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทำเขื่อนกรุงเทพฯ ไม่จมน้ำตามแบบของประเทศเนเธอแลนด์ ทั้งนี้ประชาชนในส่วนกรุงเทพฯ อยากให้ระบบขนส่งทางน้ำกลับมาใช้ได้อย่างในอดีตที่ผ่านมา กรุงเทพฯเปรียบเสมือนเมืองเวนิสตะวันออกมาก่อน คือ สามารถเดินทางตามลำคลองได้ แต่ปัจจุบันนั้นทำไม่ได้ เพราะประตูระบายน้ำไม่เปิด เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ต้องมีการเปิด-ปิดเป็นเวลา ส่งผลให้เกิดน้ำขังและน้ำเน่าตามมา กระทบชาวบ้านตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคลองที่สามารถเดินทางได้จริงมีเพียง 2 คลอง คือ คลองภาษีเจริญ กับ คลองแสนแสบ และมีคลองอีกจำนวนมากที่เชื่อมโยงกัน แต่ไม่สามารถเดินทางได้ หากจะแก้ต้องไขปัญหาต้องมีการสร้างเขื่อนจากแหลมฉบังลงไปทางใต้ วัตถุประสงค์เพื่อได้เก็บกักน้ำจืดขนาดใหญ่สามารถนำน้ำใช้ในหน้าแล้งได้ หรือปล่อยน้ำเพื่อไล่น้ำเค็มป้องกันไม่ให้เข้าสู่ที่ดินเกษตรกรรมของชาวไร่ชาวนา หากน้ำเค็มไปถึงจะทำให้ปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย และจะทำให้ประเทศไทยมีน้ำจืดปริมาณมาก ช่วยเรื่องรายได้และเศรษฐกิจและของคนไทย อย่างไรก็ตามได้ยื่นเรื่องให้ ส.ส.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าว และ ขอบคุณ ส.ส.ที่จะรับเรื่องเข้าสู่การพิจารณายื่นญัตติเข้าสู่สภาต่อไป
ด้าน นายภูดิท มีสุวรรณ์ ส.ส.พิจิตร เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการคมนาคมทางน้ำ และประธานอนุกรรมาธิการขนส่งทางน้ำ เผยว่า ในนามของคณะกรรมาธิการ วันนี้มารับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯถูกน้ำเค็มหนุนเข้ามาจำนวนมาก และกระจายไปสู่หลายจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้จัดทำโครงข่ายระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมและน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งตลิ่ง มาเพื่อเสนอแก้ปัญหาดังกล่าว
ด้าน นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่พรรคภูมิใจไทย และนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม ได้กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ทาง ส.ส.กทม.และจังหวัดใกล้เคียง ก็จะเป็นตัวแทนยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภา และตั้งวิสามัญแก้ปัญหาเรื่องนี้ 2 ญัตติ คือ 1. การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 2.การสร้างเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย โดยบูรณาการป้องกันภัยแล้ง โดยสร้างเขื่อนและใช้การขนส่งระบบราง ซึ่งจะไปล่ารายชื่อ ส.ส.ให้ครบ 20 คน คาดว่าพรุ่งนี้จะยื่นต่อสภาได้อย่างแน่นอน