ไทยติดเชื้อใหม่ 3,382 ราย ดับ 17 คน ศบค.ชุดเล็กสั่งเข้มป้องกันลักลอบเข้าเมือง คลัสเตอร์เพชรบุรีพุ่ง 968 ราย รวมกับ ตวจ.ยอดแซง กทม.-ปริมณฑลครั้งแรก เร่งปิดเคสให้ได้ 1-2 สัปดาห์ รับนราธิวาสเจอสายพันธุ์แอฟริกา 3 ราย สธ.เผยติดมาจากมาเลเซียหนีเข้าไทย ยันผู้ป่วยรักษาหายแล้ว สั่งปิดพื้นที่เร่งตรวจกลุ่มเสี่ยง อธิบดีราชทัณฑ์ปัดลามคุก กทม.บี้ทุกเขตกวดขันแคมป์คนงาน
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 13.54 น. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รองประธานกรรมการ บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และรองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหารและอาคารสถานที่ เป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบยาฟาวิพิราเวียร์ ยาพระราชทานแก่นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จำนวน 30,000 เม็ด เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำในเขตกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,382 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,917 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,325 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,592 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 460 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 129,500 ราย หายป่วยสะสม 84,535 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 2,131 ราย อยู่ระหว่างรักษา 44,189 ราย อาการหนัก 1,210 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 412 ราย
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 17 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 4 ราย อยู่ใน กทม. 15 ราย สงขลาและเชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน ปัจจัยเสี่ยงมาจากคนในครอบครัว เพื่อนและคนในชุมชน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 776 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อ 5 รายที่เดินทางมาจากต่างประเทศนั้น ในจำนวนนี้มี 4 ราย เป็นนักเรียนและแม่บ้านสัญชาติไทย ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยตลอด 24 ชั่วโมงผ่านมามีรายงานว่าสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ 241 ราย โดยในที่ประชุม ศปก.ศบค. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ได้ขอให้เพิ่มมาตรการ 2 ระดับ คือ 1.ผู้ที่ทำหน้าที่ตามแนวชายแดน ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ขอให้เพิ่มกำลังและใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดรน ให้มากขึ้นและถี่ขึ้น หรืออาจจะตั้งด่านหลายชั้น หรือ 2-3 แนว ให้มากขึ้น 2.กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลจังหวัดชายแดนและพื้นที่ชั้นในที่ใช้แรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนที่ลักลอบเข้าเมืองมาทำงานจะต้องมีการตรวจสอบกันมากขึ้น ลงโทษทั้งผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้นำพาเข้ามาไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 983 ราย, เพชรบุรี 968 ราย, สมุทรปราการ 181 ราย, นนทบุรี 107 ราย, ฉะเชิงเทรา 103 ราย, ชลบุรี 91 ราย, ปทุมธานี 66 ราย, สงขลา 59 ราย, สมุทรสาคร 38 ราย และสุราษฎร์ธานี 30 ราย โดยในที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดใน จ.เพชรบุรี ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศสองวันติดต่อกัน รวมถึงสถานการณ์ในโรงงานแห่งหนึ่งที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ที่มีการเข้าไปตรวจหาเชื้อในแรงงานกว่าหมื่นคน พบว่าที่อาคาร 9 ชั้น 2 มีการติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่โรงงานมีพื้นที่กว่า 200 ไร่ คนงานบางส่วนพักอาศัยอยู่รายรอบโรงงาน จึงเร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชนด้วย
นอกจากนี้ยังมีคนงานอีกส่วนที่ไปเช้าเย็นกลับ จากการสอบสวนโรคมี 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี 481 ราย, สมุทรสาคร 43 ราย และสมุทรสงคราม 179 ราย รวมทั้งสิ้น 703 ราย จึงขอให้คนเหล่านี้ไปตรวจหาเชื้อ แต่เชื่อว่าถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ประชาชน น่าจะเห็นตัวเลขเกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง และควบคุมให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากทีเดียว เพราะจากกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของเพชรบุรีและต่างจังหวัดรวมกัน ทำให้แซงตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.และปริมณฑลเป็นครั้งแรก
ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.นราธิวาส มี 12 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายที่พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในแอฟริกา ทั้งนี้ ผู้แทนกรมควบคุมโรคได้รายงานว่าผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายอายุ 32 ปี ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. จากนั้นมีการติดตามมาตลอด มีวงการแพร่ระบาด 3-5 วง กระจายไปใน 83 ราย ทำให้ต้องสุ่มตรวจสายพันธุ์ โดยสุ่มตรวจไป 10 ราย พบว่ามี 3 รายเป็นสายพันธุ์แอฟริกา
โฆษก ศบค.กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม.ว่า มีคลัสเตอร์เพิ่มขึ้น จาก 31 คลัสเตอร์ เป็น 33 คลัสเตอร์ คือ บางกะปิ เชื่อมโยงแคมป์คนงานก่อสร้างรามคำแหง และคลัสเตอร์สำเพ็ง ซึ่งเป็นคลัสเตอร์เดิมที่กำลังจะปิดเคส แต่กลับมาใหม่อีก จึงต้องเรียนรู้ร่วมกัน อย่ามั่นใจว่าหายแล้วหายเลย แต่มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ถ้าการ์ดตก ส่วนที่มีคนถามว่าสถานการณ์ กทม.จะอยู่อีกสักเท่าไหร่นั้น ต้องยอมรับว่า กทม.มีหลายคลัสเตอร์ หลายเขต มีลักษณะการแพร่กระจายของเชื้อแตกต่างกันไป มีความซับซ้อนในสังคมของ กทม. โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือแรงงานต่างด้าวที่พบในแคมป์คนงาน ในที่ประชุมจึงขอให้ผู้ประกอบการดูแลคนงาน ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือไม่เจ็บป่วย แต่ถูกบับเบิลแอนด์ซีล ขอให้ช่วยดูแลส่งข้าว ส่งน้ำ ร่วมด้วยช่วยกัน
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบและพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวน 3 ราย โดยพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา เริ่มต้นเป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 32 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ประวัติเสี่ยง ภรรยาเป็นชาวมาเลเซีย เดินทางมาพร้อมมารดาของผู้ป่วยและบุตร ผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อมาเยี่ยมและพักในประเทศไทย และมีอาการป่วยในปลายเดือน เม.ย. ก่อนไปรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดนราธิวาสและยะลา อาการหายดีแล้ว ส่วนภรรยาและลูกกลับไปมาเลเซียแล้ว
จากนั้นภาครัฐได้ดำเนินการปิดพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน ตั้งแต่ 8 พ.ค. ไม่ให้เดินทางเข้า-ออก และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ค้นหาเชิงรุกในชุมชน และส่งตรวจสายพันธุ์ โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 698 ราย พบผู้ติด เชื้อ 83 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต หายป่วยแล้ว 16 ราย กำลังรักษา 67 ราย และพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 ราย โดยขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมจากนี้
“สายพันธุ์แอฟริกาเราให้ความสนใจ เนื่องจากข้อมูลในขณะนี้บงชี้ว่าการตอบสนองของวัคซีนอาจจะไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา แต่วัคซีนทุกชนิดยังมีความสามารถลดการเกิดอาการรุนแรงและลดอาการเสียชีวิตจากโรคได้ จึงมีประโยชน์ที่จะให้วัคซีนในกรณีนี้อยู่ ส่วนความสามารถกระจายเชื้อของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใกล้เคียงสายพันธุ์อื่นๆ ในบ้านเรา เช่น อังกฤษ หรืออินเดีย ส่วนความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ ดังนั้นมาตรการป้องกันก็ยังใช้เช่นเดิม” อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 499 ราย รักษาหาย 54 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,787 ราย มีเรือนจำและทัณฑสถานที่พบผู้ติดเชื้อ 12 แห่ง ส่วนที่มีสื่อมวลชนรายหนึ่งแพร่ข้อมูลผ่านออนไลน์ว่ามีการพบโควิดสายพันธุ์แอฟริกาเป็นคลัสเตอร์ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสนั้น ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากในปัจจุบันเรือนจำจังหวัดนราธิวาสไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายหมดทุกราย และไม่ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสเปิดข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้รายแรกในพื้นที่อำเภอตากใบ ก่อนจะค้นหาเชิงรุกและพบเชื้ออีก 2 ราย ซึ่่งเป็นสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติ แต่ขณะนี้ผู้ป่วยทั้ง 3 รายรักษาหายและกลับบ้านแล้ว ซึ่งได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากักตัว พร้อมสั่งปิดตำบลเกาะสะท้อนต่อเนื่องอีกตั้งแต่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และทางจังหวัดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ป่วยรายแรกที่ปกปิดข้อมูลด้วย
วันเดียวกัน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบออกประกาศ กทม. เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด โดยให้สถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และสถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.64 เป็นต้นไปนั้น โดยได้สั่งการกำชับให้สำนักงานเขตต่างๆ ที่มีแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่กำชับ กวดขัน ให้ผู้ประกอบการ/นายจ้างของแคมป์คนงานก่อสร้าง ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเข้มข้น
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลกรณีการเสียชีวิตของ ร.ต.ท.หญิงสำรวม ชูลาภ รองสารวัตรกลุ่มงานอำนวยการ สน.ทุ่งสองห้อง ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า มีประวัติโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ (โรคปอด) และโรคเบาหวาน ในนามของ ตร. ผู้บังคับบัญชา และพี่น้องข้าราชการตำรวจ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของข้าราชการตำรวจผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.63-22 พ.ค. ตำรวจติดเชื้อ 912 นาย เสียชีวิต 6 นาย.