เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: กิตตินันท์ นาคทอง
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ทางหลวงชนบท ฉช.3001 แยกทางหลวง 314-ลาดกระบัง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเทพราช-ลาดกระบัง” ที่ก่อนหน้านี้ถูกขนานนามว่าเป็นถนนเจ็ดชั่วโคตร แต่ขณะนี้เปิดให้วิ่งฉิวแล้วบางช่วง แม้บางช่วงยังก่อสร้างไม่เสร็จก็ตาม
ต้องอธิบายก่อนว่า เส้นทางระหว่างแยกอ่อนนุช ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ถึงแยกเทพราช ถนนสิริโสธร อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา จะมีชื่อเรียกถนนทั้งหมดเป็น 4 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ถนนอ่อนนุช (สุขุมวิท 77) เริ่มต้นจากปากซอยสุขุมวิท 77 ที่แยกอ่อนนุช ผ่านถนนศรีนครินทร์ ที่แยกศรีนครินทร์-อ่อนนุช ผ่านถนนพัฒนาการ ที่แยกอ่อนนุช-พัฒนาการ ผ่านถนนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ที่แยกประเวศ
ผ่านถนนกาญจนาภิเษก ที่ทางแยกต่างระดับอ่อนนุช ผ่านถนนสุขาภิบาล 2 ที่แยกโรงพยาบาลสิรินธร สิ้นสุดที่ปากซอยอ่อนนุช 90 (ซอยโรงพยาบาลสิรินธร) ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร
ช่วงที่ 2 ถนนลาดกระบัง เริ่มต้นจากปากซอยอ่อนนุช 90 ผ่านถนนกิ่งแก้ว ที่แยกกิ่งแก้ว ผ่านถนนร่มเกล้า ที่แยกลาดกระบัง ผ่านถนนสุวรรณภูมิ 4 ที่แยกสนามบินสุวรรณภูมิ ข้ามคลองหัวตะเข้ ผ่านถนนฉลองกรุง ที่แยกฉลองกรุง
ผ่านถนนลาดกระบัง 54 (ต่อเนื่องไปยังถนนวัดศรีวารีน้อย ออกถนนเทพรัตน กม.18) ที่แยกลาดกระบัง 54 สิ้นสุดที่ สะพานข้ามคลองหัวตะเข้ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร
ช่วงที่ 3 ถนนหลวงแพ่ง เริ่มต้นจากสะพานข้ามคลองหัวตะเข้ ผ่านถนนประชาพัฒนา (วัดพลมานีย์) ผ่านมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ที่ทางแยกต่างระดับลาดกระบัง ผ่านพิพิธภัณฑ์งู ผ่านทางเข้าโครงการสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต
ผ่านถนนร่วมพัฒนา (ขุมทอง-ลำต้อยติ่ง) ที่แยกวัดราชโกษา ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร ที่สะพานข้ามคลองกาหลง ระยะทางประมาณ 8.3 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร
ช่วงที่ 4 ถนนเทพราช-ลาดกระบัง หรือทางหลวงชนบท ฉช.3001 จากสะพานข้ามคลองกาหลง สิ้นสุดที่แยกเทพราช ถนนสิริโสธร อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 20.329 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท
หากวัดจากแยกอ่อนนุช กรุงเทพฯ ถึงแยกเทพราช จ.ฉะเชิงเทรา จะมีระยะทางรวมกันประมาณ 50 กิโลเมตร จากจุดนี้ตรงไปอีก 10 กิโลเมตรจะถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา แถมต่อไปยังพนมสารคาม กบินทร์บุรี สระแก้ว และนครราชสีมาได้อีกด้วย
ถนนเทพราช-ลาดกระบัง เป็นถนนลาดยางเล็กๆ 2 ช่องจราจรสวนทาง สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนา แนวเส้นทางจะขนานไปกับ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นคลองขุดที่แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จุดแวะพักและศูนย์รวมของชุมชนในอดีต อยู่ที่บริเวณ ตลาดคลองสวน ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ รอยต่อระหว่าง ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กับ ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
สมัยก่อนในยุคที่ผู้คนเดินทางด้วยเรือ การเดินทางจากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพฯ จะมี “เรือเมล์ขาวนายเลิศ” ซึ่งมีเพียงลำเดียว รับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว ปากคลองประเวศบุรีรมย์ ผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
แต่เมื่อการคมนาคมทางถนนเข้ามามีบทบาท จึงเริ่มมีถนนลาดยางเส้นเล็กๆ ไปเชื่อมต่อกับถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยมีรถสองแถวสีส้ม จากสถานีขนส่งฉะเชิงเทราไปถึงเขตลาดกระบัง
แม้จะยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ก่อสร้างเมื่อใด แต่จากการสืบค้นผ่าน Google Street View หลักฐานที่พอจะสังเกตได้ คือ สะพานข้ามคลองต่างๆ มีข้อความหินอ่อนระบุว่า “กรมทางหลวงชนบท พ.ศ.๒๕๔๘”
ขณะที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ขยายถนนหลวงแพ่ง จากเดิม 2 ช่องจราจรสวนทาง มาเป็น 6 ช่องจราจร ตั้งแต่วัดพลมานีย์ ถึงสุดเขตกรุงเทพฯ ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 แล้วเสร็จในปี 2542
แต่ปัญหาก็คือ แม้จะขยายเป็นถนน 6 ช่องจราจร แต่ภายหลังถนนทรุดตัวเพราะอยู่ในชั้นดินอ่อน สำนักการโยธา จึงปรับปรุงถนนใหม่ ช่วงคลองพระยาเพชร ถึงคลองกาหลง เริ่มก่อสร้าง 12 ธันวาคม 2563 คาดว่าแล้วเสร็จ 30 กรกฎาคม 2564
หลังเปิดใช้มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 และการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 กลายเป็นการพลิกโฉมเขตลาดกระบังจากพื้นที่เกษตรกรรม เป็นชุมชนและย่านอุตสาหกรรม
สุดเขตกรุงเทพฯ ออกไป ก็มี นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) โดยจัดสรรพื้นที่ 3,700 ไร่ เชื่อมต่อกับถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 35 โรงงาน ส่วนกลุ่มคิงเพาเวอร์ ก็มีคลังสินค้าบางบ่อบริเวณคลองเจ้าฯ
เมื่อถนนเทพราช-ลาดกระบัง กลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณรถบรรทุกมากกว่า 3,000 คันต่อวัน ทำให้ถนนลาดยาง 2 ช่องจราจรไม่เพียงพอ
กรมทางหลวงชนบท จึงได้ก่อสร้างถนนเทพราช-ลาดกระบังขึ้นมาใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลองขึ้นมาใหม่ 10 แห่ง เป็นสะพานสูงพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน ใช้งบประมาณรวม 3,712.809 ล้านบาท
การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 กิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 11+000 บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และสัญญาที่ 2 กิโลเมตรที่ 11+000 ถึง 20+329 บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เริ่มต้นสัญญา 1 สิงหาคม 2559
พร้อมกันนี้ ยังก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ บริเวณกิโลเมตรที่ 1+430 ขาเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งจะเปิดใช้งานหลังถนนก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อลดความเสียหายของถนน และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในสายทางอีกด้วย
ปรากฎว่าพอผู้รับเหมาลงพื้นที่ กลับมีท่อประปาของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ท่อส่งน้ำดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และท่อส่งก๊าซของ ปตท. ลอดผ่านถนน ต้องขยายสัญญาเรื่อยมา
ท่อส่งน้ำดิบที่ว่านี้ คือท่อที่สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางบ่อ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สูบน้ำจากคลองพรองค์เจ้าไชยานุชิตไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ ก่อนที่จะนำน้ำดิบส่งผ่านท่อไปโรงไฟฟ้าบางปะกงเพื่อใช้เป็นน้ำหล่อเย็นระบายความร้อน
อีกทั้งยังมีชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนน ร้องเรียนบ่อยครั้งว่า ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำท่วมขังเวลาฝนตก ยามค่ำคืนถนนมืด ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง และไม่มีสัญลักษณ์เขตก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุรถพุ่งชนแบริเออร์ เกือบตกหลุมก็เคยมาแล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 5 ปี จึงเริ่มเห็นถนนใหม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง
เริ่มต้นจากสุดเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณคลองกาหลง ซึ่งขณะนี้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กำลังปรับปรุงถนนใหม่ เข้าเขตสมุทรปราการ เริ่มเห็นถนนลาดยางใหม่เอี่ยม 4 เลน พร้อมป้ายบอกทาง แยกซ้ายไปบางบ่อ สุวินทวงศ์ ตรงไปฉะเชิงเทรา
สะพานแรกที่ข้ามก็คือ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คลองเจ้า” ด้านล่างสะพานจะเป็นทางแยกถนนเลียบคลองเจ้าฯ เลี้ยวซ้ายไปถนนสุวินทวงศ์ เลี้ยวขวาไปออกถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด กม.28) แต่ทางเล็กมาก
เดิมกรมทางหลวงชนบท มีโครงการตัดถนนซอยบางนาการ์เด้น (เอแบคบางนา) ข้ามมอเตอร์เวย์ ไปทะลุถนนเทพราช-ลาดกระบัง บริเวณคลองเจ้าฯ ระยะทาง 4.86 กิโลเมตร แต่ติดเวนคืนที่ดิน 122 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างในปี 2567-2569
สักพักหนึ่งก็จะมีสี่แยกไฟแดง เรียกว่า “แยกวัดเปร็ง” ถ้าเลี้ยวซ้ายไปอีก 13 กิโลเมตร ออกถนนสุวินทวงศ์ บริเวณสี่แยกตลาดปองพล เลี้ยวขวาจะเป็นถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ไปอีก 12 กิโลเมตร ข้ามมอเตอร์เวย์ ไปออกถนนเทพรัตน กม.29
หลังจากนั้นจะผ่าน วัดเปร็งราษฎร์บำรุง สถานีตำรวจภูธรเปร็ง โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี จุดเดียวกับที่เกิดโศกนาฎกรรมท่อก๊าซ ปตท.ระเบิด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 52 คน ตอนนี้พื้นที่ก็ได้รับการฟื้นฟูบ้างแล้ว
จากนั้นจะเป็น สะพานข้ามคลองเปร็ง สองข้างทางจะเป็นทุ่งนาสลับกับบ้านเรือน ตรงไปสักพักจะเป็น นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) บริเวณฝั่งขวามือ ถัดไปจะมีสะพานใหญ่ข้าม คลองกระแซงเตย พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน
หลังจากนั้นจะเข้าสู่สัญญาที่ 1 กิโลเมตรที่ 11+000 สภาพถนนจะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังปูทางไม่เสร็จและยังไม่มีเส้นจราจร ผ่านที่ทำการเทศบาลตำบลคลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ บริเวณฝั่งขวามือ
สักพักจะพบกับสะพานข้ามคลองพระยานาคราช ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กับ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ด้านบนเป็นสะพานสูง ด้านล่างเป็นสะพานแบบเปิดได้ให้เรือผ่าน ถัดมาเป็นทางเข้าตลาดคลองสวน 100 ปี
ที่น่าฉงนก็คือ บริเวณสะพานจะมี ธนาคารกสิกรไทย สาขาตลาดคลองสวน เป็นอาคารสาขาขนาดใหญ่แห่งเดียวบริเวณชุมชนแห่งนี้ สืบค้นข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเปิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2531 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน
ต่อจากนั้นจะเป็นสะพานข้าม แยกเกาะไร่ ตัดกับทางหลวงชนบท ฉช.2004 เลี้ยวซ้ายไปบ้านบางพระ เลี้ยวขวาไปถนนเทพรัตน กม.36 (ซอยสนามกอล์ฟไทยคันทรีคลับ) ขณะนี้สะพานยังไม่เปิดให้สัญจร ต้องวิ่งทางด้านล่างก่อน
จากนั้นมาจะเป็นสะพานใหญ่ข้าม คลองแขวงกลั่นล่าง และสะพานข้าม คลองขุนพิทักษ์ บริเวณวัดประเวศวัฒนาราม เป็นสะพานสุดท้าย ผ่านด่านชั่งน้ำหนัก บริเวณฝั่งขวามือ
สิ้นสุดที่สี่แยกเทพราช ถนนสิริโสธร ถ้าเลี้ยวซ้ายไปตัวเมืองฉะเชิงเทรา 10 กิโลเมตร แต่ถ้าเลี้ยวขวาไปบางปะกง และมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด (ด่านบางปะกง)
จากแยกเทพราช เลี้ยวขวาไม่ไกลนักจะเป็นแยกลาดขวาง ถ้าเลี้ยวซ้ายนอกจากจะข้ามสะพานพระยาศรีสุนทรโวหาร เข้าตัวอำเภอบ้านโพธิ์แล้ว ต่อเนื่องไปจะเป็นถนนแปลงยาว-บ้านโพธิ์ หรือทางหลวงหมายเลข 3304
ตรงไป 4 กิโลเมตร จะเจอถนนศุขประยูรที่แยกดอนสีนนท์ เลี้ยวซ้ายไปตัวเมืองฉะเชิงเทรา เลี้ยวขวาไปพนัสนิคม และถ้าตรงไปอีก 17 กิโลเมตร จะเจอถนนสาย 331 ที่แยกวังเย็น เลี้ยวซ้ายไปพนมสารคาม ถ้าเลี้ยวขวาไปสัตหีบ และระยอง
สรุปก็คือ ถนนช่วงตั้งแต่สุดเขตกรุงเทพฯ ถึงสะพานคลองกระแซงเตย ถนนเริ่มดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ถัดจากนั้นถึงแยกเทพราช ถนนยังไม่เรียบร้อย ไม่ได้ตีเส้นจราจร มีป้ายจำกัดความเร็ว 40 กม./ชม. มีรถวิ่งสวนทางสลับกัน ต้องระวังอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่าถนนจะยังไม่เสร็จ แต่ก็เริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น โครงการทรอฟี บ้านโพธิ์ ของ มารวย เรียลเอสเตท ทาวน์โฮมและบ้านแฝดสไตล์อังกฤษ บนพื้นที่โครงการ 25 ไร่ จำนวน 195 ยูนิต ห่างจากแยกเทพราช 2 กิโลเมตร
เมื่อวันก่อน เห็นกรมทางหลวงชนบท ออกมาให้ข่าวว่า ทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 มีความก้าวหน้ากว่า 95% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 เมื่อได้มาเห็นของจริงแล้ว ยังเหลือเวลาอีกครึ่งปีที่พอจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา
แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากวิบากกรรมรถติดไปได้ เพราะห่างออกไปไม่ไกลนัก แยกบางพระกำลังก่อสร้างสะพาน รองรับโครงการทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ สิงหาคม 2566 ช่วงนี้จึงต้องทนรถติดไปอีก 2 ปีเศษๆ
ส่วนฝั่งลาดกระบัง สำนักการโยธากำลังก่อสร้าง ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เริ่มต้นจากหน้า สน.ลาดกระบัง ผ่านแยกสนามบิน ถึงสำนักงานประปาสุวรรณภูมิ ความยาว 3.36 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จ สิงหาคม 2566 เช่นเดียวกัน
จากรายงานบัญชีโครงข่ายทางหลวงชนบท ประจำปีงบประมาณ 2565 พบว่าทางหลวงชนบท ฉช.3001 มีปริมาณการจราจร (PCU) 11,549 คัน เมื่อถนนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเชื่อมโครงข่ายเส้นทางรอบสนามบินสุวรรณภูมิให้สมบูรณ์มากขึ้น
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังฉะเชิงเทรา หนึ่งในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะมีทางเลือกที่ 4 ต่อจากถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี, มอเตอร์เวย์ออกด่านบางปะกง และถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) ต่อเนื่องถนนสิริโสธร
จากทางแยกต่างระดับลาดกระบัง ถึงทางแยกต่างระดับฉะเชิงเทรา หากใช้มอเตอร์เวย์ จะมีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร เสียค่าผ่านทางที่ด่านบางปะกง 30 บาท แต่ใช้ความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเป็นถนนหลวงแพ่งและถนนเทพราช-ลาดกระบัง จะมีระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร แม้จะผ่านเขตชุมชน แต่ออกแบบถนนให้มีจุดกลับรถใต้สะพาน
คนที่ยอมเสียค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ เพื่อไปถึงฉะเชิงเทราเร็วขึ้น ก็เสียเงินกันต่อไป แต่อย่างน้อยก็มีทางเลือกให้ประชาชนที่ต้องการสัญจรแบบฟรีๆ เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้น