ตร. ลุยค้น 10 จุด ทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทลายแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ จ้างหญิงไทย 5 แสนตั้งครรภ์แทนก่อนคลอดส่งเด็กออกนอกประเทศ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ก.พ.2564 ที่กองกำกับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 ร่วมแถลงผลการเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นเป้าหมายขบวนการแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ 10 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมจับกุมนายหน้าว่าจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์แทน 3 ราย และกลุ่มหญิงไทยที่รับจ้างอุ้มบุญ 4 ราย พร้อมของกลางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และเอกสารอีกหลายรายการ
- อ่าน ตื่นโผล่นั่งชานชลา! สาวพม่าโดนทิ้งแอบขึ้นรฟ.เข้ากรุง เจอตร.โดดหนีลง
- อ่าน ไม่รู้ระบบล่ม!แห่เข้าร้านซื้อของ”เราชนะ”สุดท้ายเซ็งควักเงินสดจ่าย
- อ่าน พญาแร้งวางไข่แล้ว! สวนสัตว์โคราชเฮ รอมากว่า 25 ปี ครั้งแรกในเอเชีย
นายสาธิต เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำให้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระทีสำคัญของรัฐบาล การรับตั้งครรภ์ หรือการอุ้มบุญ เป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กล่าวคือ มีการกระทำของนายหน้าผู้เป็นธุระจัดหาหญิงที่มารับจ้างตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการจูงใจหญิงด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานอย่างอื่นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานว่า มีเด็กทารกอายุประมาณ 4 เดือน เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่รพ.รามาธิบดี ด้วยภาวะชักเกร็งและมีเลือดออกในสมอง ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเด็กเกิดจากการอุ้มบุญ
ด้านพล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า จากการสอบสวรมารดาของเด็กรายนี้ ทราบว่า ได้รับจ้างให้อุ้มบุญ และรอการส่งมอบเด็กให้ผู้ว่าจ้าง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มารดาที่รับตั้งครรภ์แทนไม่สามารถเดินทางออกไปคลอดนอกประเทศได้ จำเป็นต้องคลอดในสถานพยาบาลในประเทศไทยและส่งมอบทารกให้นายจ้าง จึงสืบสวนร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้อง และข้อมูลที่ได้จนทราบว่า สถานที่รับเลี้ยงเด็ก ชื่อว่า “GS กิ๊ก บริการศูนย์แม่บ้าน” ผ่านสื่อออนไลน์ ประกาศรับสมัครหญิงที่ต้องการหารายได้จากการรับจ้างตั้งครรภ์แทนด้วยค่าจ้างที่สูง ซึ่งจากการสืบสวน พบว่าขบวนการนี้มีนายหน้าชาวต่างชาติว่าจ้างมารดาผู้รับตั้งครรภ์แทนเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท โดยทำมานานหลายปี และจะออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แม่อุ้มบุญทั้งหมด ซึ่งจะต้องไปฝังตัวอ่อนทารกที่ประเทศกัมพูชา ก่อนกลับมาพักในประเทศไทย จนถึงกำหนดคลอดทารก ค่อยเดินทางไปยังประเทศที่สามเพื่อคลอดทารกยังสถานพยาบาลแล้วส่งมอบทารกให้ อีกทั้งมีกลุ่มหญิงไทยที่ได้รับจ้างตั้งครรภ์แทนและเดินออกนอกประเทศเพื่อฝังตัวอ่อนในลักษณะเดียวกันอีกเป็นจำนวนมาก
“จากการตรวจสอบพบว่าสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ เปิดเป็นบริษัททำความสะอาดบังหน้า โดยใช้ชื่อหญิงชาวจีน เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือเหยื่อแบ่งเป็นเป็นเด็กได้ 2 ราย อายุประมาณ 6 เดือน และอายุประมาณ 8 เดือน และผู้ดูแลเหยื่อชาวฟิลิปปินส์ 2 ราย เบื้องต้นจากการตรวจดีเอ็นเอ ในเด็กพบว่าของพ่อเด็กเป็นคนสัญชาติจีน เบื้องต้นจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากพบว่าเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2557 และมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท หลังจากนี้ตำรวจจะสืบสวนขยายผลเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง พร้อมสอบสวนหญิงจากสถานพยาบาลที่พบอีก 3 รายที่รับว่าเป็นแม่อุ้มบุญ แต่ยังไม่พบตัวเด็ก
เบื้องต้นแจ้งข้อหาผู้กระทำผิดตาม ม.24 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ฐาน ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ม.27 กระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้าโดยเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการตั้งครรภ์แทน และความผิดตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556″
ขณะที่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เหตุที่การอุ้มบุญผิดกฎหมายเป็นที่นิยมในไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในด้านเครื่องมือและบุคลากร ทำให้มีนายหน้าและผู้สนใจมีบุตรเห็นช่องทางในการอุ้มบุญในไทย ซึ่งไทยมีคลีนิกอุ้มบุญถูกกฎหมาย 102 แห่งทั่วประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน และมีบุคคล 400 คู่ที่สามารถอุ้มบุญได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งหลักสำคัญคือ สามีและภรรยาที่รับลูกอุ้มบุญต้องเป็นคนไทย หากคนใดคนหนึ่งไม่ใช่คนไทย ต้องแต่งงานอยู่กินกันไม่ต่ำกว่า 3 ปี ฝ่ายหญิงและชายต้องมีอายุไม่เกินกำหนด และอุ้มบุญในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรอง หากพบสถานพยาบาลใดเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะมีการลงโทษตามกฎหมายร้ายแรงสุดก็ถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบการ หากมีแพทย์ทำผิด ก็ต้องเอาผิดทั้งทางวิชาชีพและกฎหมาย