ทั้งนี้ โฟกัสกรณี “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” ในเชิง “ประวัติศาสตร์-โบราณคดี-ธรณีวิทยา” นั้น…ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ ซึ่งกับประเด็น “สาเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซ้ำซาก” นั้น อาจจะเพราะ…
“นิเวศพิษ” เป็น “ปัจจัยทำน้ำท่วมซ้ำ ๆ”
มีทั้ง “น้ำจืดท่วม” และก็ “น้ำทะเลท่วม”
ทั้งนี้ น้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้นมี “มุมวิเคราะห์” ในแง่มุมประวัติศาสตร์ โบราณคดี และรวมถึงธรณีวิทยา ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผ่านทางบทความ… “นิเวศพิษของกรุงเทพฯ ในสมัยแอนโทรพอซีน” โดย ตรงใจ หุตางกูร นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ได้นำองค์ความรู้ทางประวัติ ศาสตร์ โบราณคดี และธรณีวิทยา มาอธิบาย “ปรากฏการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ” ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อย และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อให้พิจารณา…
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีท่านดังกล่าวได้ฉายภาพไว้ โดยสังเขปนั้นมีว่า… เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล หรือที่เรียกว่า “ที่ลุ่มบางกอก (Bangkok Lowland)” ซึ่งมีความลาดเอียงจากความสูง 5 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางถึงระดับน้ำทะเลที่ชายฝั่ง และด้วยความลาดชันตามธรรมชาติ ทำให้เมื่อถึงฤดูฝนจึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลรวมกันมาจากพื้นที่ตอนเหนือขึ้นไปใน “ฤดูน้ำหลาก” อีกทั้ง “ที่ลุ่มบางกอก” แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลทางทิศใต้ ที่ดันขึ้นมาจากทางปากแม่น้ำ หรือที่เรียกว่า “น้ำทะเลหนุน” อีกด้วย…
นี่คือ “ธรรมชาติแต่เดิม” ของที่ลุ่มบางกอก
ทางผู้จัดทำบทความดังกล่าวยังสะท้อนไว้ว่า… จากสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็น “ที่ลุ่มต่ำ” มาแต่อดีต คนโบราณจึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยกับสภาพเช่นนี้ โดยหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการปรับตัวของคน “ที่ลุ่มบางกอก” คือ “คลองจำนวนมาก” อย่างไรก็ตาม แต่จากการ “ปรับเปลี่ยน” ที่เกิดขึ้นช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้ที่ลุ่มบางกอก “เปลี่ยนไป” อย่างรวดเร็ว โดยรวมถึงการที่ แนวป่าชายเลนลดลง เนื่องจากมีการปรับเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ส่งผลให้ เกิดการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นสมุทรรุนแรง จนทำให้พื้นที่หายไปเรื่อย ๆ โดยที่เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับ ปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น…
“ฝีมือมนุษย์” นั้น “ทำให้เกิดนิเวศพิษ!!”
กับคำว่า “นิเวศพิษ” นี้…นักวิจัยท่านเดิมอธิบายไว้ว่า… เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ “ฝีมือมนุษย์ในยุคปัจจุบัน” ที่ “ทำให้เกิดความผันผวนของธรรมชาติ” โดยนักวิชาการเรียกยุคสมัยนี้ว่า “ยุคของแอนโทรพอซีน” หรือ “ยุคมนุษย์ผันผวนโลก” เพื่ออธิบาย สภาวะแปรปรวนของธรรมชาติที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์ใกล้ตัวที่สุดในตอนนี้คือ อุทกภัยที่ราบภาคกลางตอนล่าง ปี 2565 ที่ผู้เกี่ยวข้องโทษฟ้าฝนว่าเป็นสาเหตุ
แต่จริง ๆ แล้ว ฟ้าฝนไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยึดโยงและสัมพันธ์กันภายใต้ระบบ “แอนโทรพอซีน” ที่ประกอบด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ… 1.ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากฝีมือมนุษย์, 2.ที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมเพราะมนุษย์สร้างบ้านเรือนบนที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล, 3.ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน, 4.การขาดการวางผังเมืองให้เป็นผังเมืองระบายน้ำ, 5.การขาดการดูแลระบบระบายน้ำที่มีอยู่, 6.การบริหารกักและปล่อยน้ำที่ยังขาดประสิทธิภาพ เป็นต้น …นี่เป็น “สาเหตุน่าพินิจ” กรณีปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ระบบนิเวศพิษของกรุงเทพฯ”
ทั้งนี้ ทาง ตรงใจ หุตางกูร นักวิจัย เสนอแนะไว้ว่า… อาจ ถึงเวลาที่ผู้รับผิดชอบปัญหาต้องหันมาทบทวนจริงจังว่าต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ในการมองหาวิธีแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกันใหม่หรือไม่? หรือ ต้องมองอย่างไรจึงจะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ? หรือสุดท้ายแล้ว… หรือผู้ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวกันเอาเอง? ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ระบบนิเวศใหม่” จากการที่ “ธรรมชาติปรับตัวเอง” ให้เข้าสู่สมดุลกับสิ่งที่มนุษย์ทำลาย… “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จึงเป็น…
“นิเวศใหม่” ใน “ยุคแอนโทรพอซีน”
นอกจากนี้ นักวิจัยท่านนี้ยังคาดการณ์ และระบุไว้ด้วยว่า… ในอนาคต คนกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญ “5 ฤดูกาลแห่งแอนโทรพอซีน” คือ… “ฤดูร้อน UV เข้ม” หรือ “ฤดูหลบแดดในร่ม” ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค., “ฤดูฝนตกเลิกงาน” ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค., “ฤดูน้ำฝนท่วมขัง” ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย., “ฤดูแม่น้ำบ่าท่วม” ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่มีพายุเข้า และมีน้ำแม่น้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ใน “ที่ลุ่มบางกอก” และ “ฤดูฝุ่น PM 2.5” ช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. ซึ่งเกิดขึ้นหลังฤดูฝน หลังฝนเริ่มทิ้งช่วง…
“สภาวะแอนโทรพอซีนไม่ได้เป็นเรื่องของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นเครือข่ายของปมปัญหาที่เกิดจากทุกภาคส่วน ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนเลยว่า…เราทุกคนกำลังสร้างระบบนิเวศพิษขึ้นทีละน้อย จนเมื่อความเป็นพิษเชื่อมต่อกัน จึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องของฤดูกาลของกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปมากจากอดีต” …
ก็น่าสนใจมาก-น่าคิด…กรณี “นิเวศพิษ”
“ยุคแอนโทรพอซีน-มนุษย์พังนิเวศเดิม”
ก่อเกิด “5 ฤดู” ที่เป็น “ทุกข์ภัยสนอง!!”.