บีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีเขียว : สรุปความขัดแย้งระหว่าง คมนาคม กับ มหาดไทย

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ,

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาเหตุความไม่ลงรอยระหว่างรัฐมนตรีจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับปมสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ออกไปอีก 30 ปี ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ล่าสุดเมื่อ 8 ก.พ. รัฐมนตรีทั้งหมด 7 คนจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งไม่เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BTSC บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ออกไปเพื่อแลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนัก ชี้แจงว่าการไม่ร่วมการประชุม ครม.ของรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เพราะติดภารกิจและบางส่วนอยู่ระหว่างการกักตัว หนึ่งในนั้นคือ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่แสดงความเห็นว่าไม่สบายใจในข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะต้องให้กรุงเทพมหานครไปดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน

ที่มาของภาพ, พรรคภูมิใจไทย

คำบรรยายภาพ,

3 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย (จากซ้าย) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. ท่องเที่ยวฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว. สาธารณสุข และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม

ในเวลาต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ครม. ยังไม่ได้พิจารณาโครงการดังกล่าวแ ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะผิดมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่เพียงแค่พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่กังขากับการดำเนินการนี้ ผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านก็ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงเมื่อ 6 ก.พ. ให้จับตาเรื่องนี้ และ ส.ส. พรรคก้าวไกลแถลงเมื่อ 8 ก.พ. คัดค้านการต่อสัมปทานด้วย เพราะอาจจะมีปัญหาในอนาคตได้

ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 8 ก.พ. แสดงความเห็นคัดค้านต่อการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี และการตั้งราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวที่ 65 บาทตลอดสาย สอบ.มองว่า เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับประชาชนและอาจจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชนในอีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมเสนอให้ยังคงอัตราค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ที่ 44 บาทตลอดสายไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 โดยให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้รัฐบาลเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย

บีบีซีไทยประมวลเหตุการณ์สำคัญ ๆ และเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังต่อไปนี้

คำสั่งตาม ม. 44 ของหัวหน้า คสช.

จุดเริ่มต้นของกระบวนการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดขึ้นภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการในการบริหารโครงการและสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้เกิดเอกภาพและเดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สถานีรัชโยธินหนึ่งในส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ หัวหน้า คสช. จำต้องใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว ปรากฏในคำชี้แจงภายหลังของพล.อ ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ว่า หลังจาก ครม. มีมติใน 2561 เห็นชอบให้โอนส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้จัดการแทน พร้อมกับรับภาระหนี้สิ้นต่าง ๆ จาก รฟม.

พล.อ. ประยุทธ์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยการที่โครงการดังกล่าวมีสัญญาดำเนินงานแตกต่างกันในแต่ละช่วง อาจทำให้มีปัญหาการบูรณาการ การบริหารโครงการและสัญญาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ถ้าต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาจทำให้โครงการนี้ล่าช้าอีก 2-3 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหาการเดินรถที่ไม่มีความต่อเนื่อง

จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งดังกล่าว โดยให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่องค์ประกอบเดียวกับคณะกรรมการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ผลประโยชน์ และค่าโดยสารให้เป็นธรรม อย่างไรก็ตามในขณะนั้นยังไม่ระบุถึงการให้ขยายสัมปทานกับเอกชนแต่อย่างไร

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่อมา 13 ส.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. ที่แบกรับภาระหนี้สินและการบริหารจัดการต่าง ๆ จาก รฟม. ได้เสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ BTSC เป็นเวลาอีก 30 ปี กล่าวคือ ขอขยายอายุสัมปทานไปถึงปี 2602 จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2572 ให้ ครม. ในขณะนั้นพิจารณาตามผลการเจรจาของคณะที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ให้ BTSC จะต้องรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจาก กทม. เป็นเงินมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท พร้อมกับกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคม พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงคมนาคมยังมีความเห็นแย้งกับข้อเสนอดังกล่าวของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนทำให้วาระดังกล่าวถูกดึงออกจากวาระการประชุม ครม. หลายครั้ง

ครม. ชะลอการตัดสินใจเรื่องนี้มาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง

นับตั้งแต่การเสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งในครั้งนั้นลงเอยด้วยการถอนเรื่องออกไป และมีรายงานว่านายกรัฐมนตรีสั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนนำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ความพยายามครั้งที่ 3 ของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 โดยสื่อมวลชนหลายแห่งรายงานตรงกันว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งที่ประชุม ครม. ครั้งนั้นว่ากระทรวงมหาดไทยขอถอดเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุมโดยไม่ระบุสาเหตุ และกระทรวงคมนาคมได้ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ลงวันที่ 16 ต.ค. 2564 ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ จากกรมการขนส่งทางราง ในลักษณะเป็นข้อทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ความพยายามครั้งที่ 3 ของกระทรวงมหาดไทยมีขึ้นเมื่อ 19 ต.ค. 2564 โดยเสนอที่ประชุม ครม. ให้พิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง แต่ในที่สุดก็ต้องถอนเรื่องออกไปอีก เนื่องจากมีข้อทักท้วงจากกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

ส่วนความพยายามครั้งล่าสุดของกระทรวงมหาดไทย ก็เผชิญกับการต่อต้านจากพรรคภูมิใจไทยเช่นเคย ในครั้งนี้รัฐมนตรี 7 คนของพรรคแจ้งไม่ขอร่วมการประชุม ครม. เมื่อ 8 ก.พ. ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ภายหลังการประชุม ครม. ว่า ณ ตอนนี้ กระทรวงคมนาคมยังต้องการให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งครม. มีมติให้ไปชี้แจงเพิ่มเติมข้อมูลและเสนอกลับเข้ามาใหม่ หลังจากที่กระทรวงคมนาคมมีหนังสือทักท้วงมา 4 ข้อ ก็ต้องไปชี้แจงและนำกลับมาเสนอใหม่ และวันนี้ที่ประชุมครม. ก็ได้มีการพิจารณาวาระดังกล่าว ไม่ได้เป็นการถอนออกไป เพียงแค่ให้เอาข้อมูลมาเพิ่มเติมและพิจารณาในที่ประชุมครม. ครั้งต่อไป

เปิด 4 ข้อสังเกตจากกระทรวงคมนาคม

ปมปัญหาหลักที่ยังเป็นข้อกังขา ซึ่งถือเป็นข้อสังเกตโดยกระทรวงคมนาคม ต่อการพิจารณาต่ออายุสัมปทานตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมานั้น ประกอบด้วย 4 ข้อ ตามรายงานของสื่อหลายแขนง ดังนี้

1. ความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 46 และมาตรา 47 ในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ไม่มีการเสนอความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานควรมีการประกวดราคาหรือควรเจรจาต่อรองกับเอกชนรายเดิม และต้องสอดคล้องตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และหลักการการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้เกิดความครบถ้วนและเป็นไปตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ที่มาของภาพ, Getty Images

2. การคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ผลักดันนโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงในการเดินทางภายในโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเดินทางเชื่อมต่อกัน และได้ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง

3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา เพื่อป้องกันมิให้รัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับและประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

4. ข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำสัญญาจ้าง บมจ. บีทีเอสซี เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนการพิจารณาดำเนินการต่อไป

กทม. ยังเป็นหนี้บีทีเอสกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐแล้ว ในส่วนการดำเนินงานของบีทีเอสซี กับกรุงเทพมหานครและวิสาหกิจในสังกัดกรุงเทพฯ ยังพบข้อพิพาทเช่นกัน เนื่องจาก กทม. ยังไม่มีความชัดเจนในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทได้ยื่นคำฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อศาลปกครอง เนื่องจากปัญหาการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยศาลปกครองได้รับคำฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564

โดยรายละเอียดในการยื่นฟ้องครั้งนี้แบ่งเป็น สัญญาจ้างเดินรถ มูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านบาท หนี้ที่เกิดจากสัญญาติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอีกราว 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบีทีเอสได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างมากต้องไปกู้เงินมาแก้ปัญหาการบริหารจัดการ รวมเป็นการค้างจ่ายค่าจ้างราว 3 หมื่นล้านบาท

กรุงเทพ

กรุงเทพ

กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย

Next Post

บทความแนะนำ

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.