- Line
กรุงเทพฯ – หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดพื้นที่หาแนวทางแก้ปัญหาจราจร กทม. ชี้ ต้องแก้ทั้งจิตสำนึกคน ใช้เทคโนโลยี-บิ๊กดาต้า ช่วย และส่งเสริมขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือ
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ จัดงาน ‘เปิดอกถกทุกประเด็น’ แก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร เชิญ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม, นายพงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด และ พ.ต.ต.พุฒิพัฒน์ โกยมวงษ์เจริญ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ร่วมพูดคุยหาทางออกการจราจรในกรุงเทพมหานคร หัวข้อ ‘กรุงเทพต้องดีขึ้น แก้ปัญหาวิกฤติจราจร’ ณ ร้านกาแฟ Blue cloud พรรคประชาธิปัตย์ และแอปพลิเคชันคลับเฮาส์
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ระบุว่า ปัญหาการจราจรใน กทม. เป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมาอย่างยาวนาน แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป แต่เป็นเพียงการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ต้องกลับมามองการแก้ไขปัญหาในระยาวมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่าย ไม่สามารถทำคนเดียวได้ รวมถึงต้องมีการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้ด้วย ดังที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นภาพที่ตรงกัน และเกิดการบูรณาการความร่วมมือกันมากขึ้นได้ในอนาคต เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาใน กทม. ทั้งรถติด น้ำท่วม และมลพิษ PM 2.5 เป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานแล้ว สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่เดิมที มีแผนการสร้างรถไฟฟ้ามาก่อนทางด่วน แต่บางรัฐบาลเลือกที่จะสร้างทางด่วนก่อน ทำให้คนหันไปใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น จึงเกิดปัญหารถติดตามมา แต่เวลานี้คิดว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ที่เดินหน้าขยายเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่ที่คนยังใช้บริการไม่มากเพราะค่าโดยสารแพง โครงข่ายยังไม่ครอบคลุม และระบบเชื่อมต่อขน (Feeder) ยังไม่ดี ซึ่งการจะทำให้ค่าโดยสารถูกกว่านี้ คือ รัฐบาลต้องลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้น รัฐบาล และ กทม.ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ด้วยการทำ ‘ตั๋วร่วมโดยสาร’ เพื่อลดค่าแรกเข้าของทุกระบบขนส่ง
ขณะเดียวกัน ไม่ควรมองข้ามการพัฒนารถโดยสารธารณะพื้นฐานอย่างรถเมล์ ที่ต้องพยายามหารถใหม่มาทดแทนและเพิ่มเส้นทางการเดินรถ โดย กทม.อาจต้องเข้าไปเป็นหนึ่งผู้ให้บริการด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมถึงควรวางท่อใต้คลองเพื่อระบายน้ำท่วม และทำให้เรือสัญจรได้ตลอดเวลา คนจะได้หันไปใช้เรือโดยสารกันมากขึ้น รวมทั้งควรปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรไปพร้อมกัน เพราะตำรวจจราจรมีน้อยกว่าผู้ใช้รถ การจะจับผู้กระทำผิดทุกกรณีคงเป็นไปได้ยาก
ภายในงาน ยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงคมนาคมและ กทม.กำลังส่งเสริมขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือ โดยเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งหลักและเร่งทำตั๋วร่วมโดยสาร มีข้อเสนอแนะให้ตำรวจจราจรไปอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้คำนวณปริมาณรถและสัญญาณไฟจราจร และนำ Big data กลับมาใช้พัฒนาระบบจราจร
ส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) คืนพื้นผิวจราจรกทม. สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลร่วมกัน และลดค่าขนส่งมวลชนให้เหลือเพียงร้อยละ 15 ของค่าแรงขั้นต่ำ เสนอการแปลงข้อมูลเป็นเหรียญ (Tokenization) เพื่อกระตุ้นให้คนมีวินัยจราจร เสนอการใช้วิดีโอ สตรีมมิ่ง บอกสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์แทนระบบจีพีเอส เพื่อให้คนสามารถตัดสินใจเลือกใช้รถได้เหมาะสม ประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นมูลค่าความสูญเสียบนท้องถนนทุกวัน ให้เอกชนเข้ามาดูแลเรื่องระบบจราจรแทนภาครัฐ ทำที่จอดรถสาธารณะรอบจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชน และเสนอการแก้ปัญหาที่เริ่มจากผู้ขับขี่ โดยต้องกล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก่อนที่จะไปแก้เรื่องอื่น เป็นต้น
งานเปิดอกถกทุกประเด็น จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคาร เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป เพื่อระดมแนวคิดและแนวทางการแก้ไขปัญหา จากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน สัปดาห์หน้าจะเป็นการจัดงานนอกสถานที่ครั้งแรก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ – Prinn Panitchpakdi และไลน์ไอดี @prinnp หรือรับชมเรื่องราวเจาะลึกทุกปัญหาปากท้องของคนกรุง ได้ที่ช่องยูทูป PRINN Check in