เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 31 ตุลาคม 2565 เวลา 13:35 น.
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า “ด่วน…ปิดตำนานสนามบินเบตง นกแอร์คือเที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. หลังจากนี้ทิ้งไว้เป็นตำนาน จากการเปิดสนามบินวันแรก 14 มี.ค.65 -28 ต.ค.65 เพียง 8 เดือนไม่ถึงปี สิ้นมนต์ขลังพลังลุงตู่…” นั้น
ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งปัญหาของเที่ยวบิน “กรุงเทพฯ-เบตง” มีข่าวแง่ลบมาตลอด ตั้งแต่เปิดบินเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อ 14 มี.ค.65 ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางไปเป็นประธานเปิดสนามบิน และบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ด้วยตนเอง
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเรื่องนี้ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข่าวหยุดบิน ไฟลต์บิน “กรุงเทพฯ-เบตง” เป็นเรื่องจริง โดยจะบินวันนี้ (31 ต.ค.) เป็นวันสุดท้าย
มีรายงานด้วยว่า นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง ได้หารือกับทาง บางกอกแอร์เวย์ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะเปิดบินเส้นทาง “หาดใหญ่ – เบตง – หาดใหญ่” โดยขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติ จากนั้นจะมีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างกันอีกครั้งหนึ่ง
ข้อมูลอีกด้าน มาจากผู้บริหารที่มีอำนาจใน ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาชี้แจงว่า เป็นเรื่องจริงที่มีการปิดรันเวย์ แต่ปิดเพื่อปรับปรุง ขยายรันเวย์เป็น 1,800 เมตร จากเดิม 1,500 เมตร จึงต้องหยุดให้บริการก่อนสักระยะหนึ่ง
“เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาอะไร ช่วงนี้หากมีไฟลต์บินส่วนตัว หรือเช่าเหมาลำ หรือไฟลต์บินพาณิชย์อื่น ก็สามารถประสานให้ใช้สนามบินได้ปกติ ส่วนที่มีคนโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียในแง่ลบ ก็ถือว่าปกติ”
ผู้บริหารที่มีอำนาจใน ศอ.บต. ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้รายงานผลการศึกษาเรื่องขยายรันเวย์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ และต้องมีการตรวจสอบความพร้อมก่อน เพราะมีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ขยายจาก 1,500 เมตร เป็น 1800 เมตร และเพิ่มความกว้างฝั่งละ 350 เมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบินทางอากาศของประเทศมาเลเซีย และเปิดให้เครื่องบินขนาดใหญ่สามารถลงจอดได้ โดยในส่วนของงบประมาณในการขยายรันเวย์ ใช้งบกระทรวงคมนาคม
สำหรับสนามบินเบตง หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงนั้น ตั้งอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองราวๆ 7-10 กิโลเมตร ตั้งแต่เปิดสนามบิน มีไฟลต์บินปฐมฤกษ์ที่นายกฯร่วมเดินทางด้วยเพียงไฟลต์เดียว หลังจากนั้นก็หยุดบิน เนื่องจากนกแอร์อ้างว่า ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ และเสี่ยงขาดทุน ต่อมามีการเจรจากันอีกหลายรอบ และสามารถเปิดบินได้ในลักษณะรวมเป็นแคมเปญท่องเที่ยวเบตง แต่สุดท้ายก็เปิดเส้นทางบินได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องหยุดบินอีกครั้ง