กิจวัตรยามเช้าของชาวกรุงหลายๆ คน นอกจากจะตื่นมาเช็คไลน์ว่ามีใครส่งข้อความเข้ามาทักทายบ้าง ยังตื่นมาเช็คข้อมูลค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อีกด้วย เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่จะมีฝุ่นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เพื่อเตรียมป้องกันตนเอง ในภาวะสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ใครหลายคนตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศมาช่วยกรองฝุ่นจิ๋วนี้ รวมทั้งยังมีการให้ธรรมชาติเข้ามาช่วย โดยการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดเพื่อช่วยดักจับฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศ ณ บริเวณที่พักอาศัย
หากพูดถึงการให้ธรรมชาติมาช่วยดูดซับฝุ่นควันและมลพิษ อย่างเช่นการปลูกต้นไม้ คงจะดีไม่น้อยถ้าหากผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงได้มีพื้นที่สีเขียวไว้พักผ่อนหย่อนใจ ห่างไกลมลพิษ ซึ่งงานวิจัยจาก The Nature Conservancy (TNC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าพื้นที่สีเขียวสามารถลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7 – 24 ซึ่งการปลูกป่าในเมืองด้วยต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง หากมีจำนวนมากพอจะสามารถลดอุณหภูมิและบรรเทา “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” หรือปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในสังคมเมืองใหญ่มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งต้นไม้ใหญ่ยังทำให้คุณภาพของอากาศในเมืองดีขึ้นเพราะช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนและดูดซับมลพิษ โดยอนุภาคฝุ่นละอองจะถูกจับอยู่บนผิวของต้นไม้และผิวของใบชั่วคราว จากนั้นจะถูกชะล้างด้วยน้ำฝน และจะตกลงสู่พื้นพร้อมกับการร่วงของใบไม้
อันที่จริงกรุงเทพฯ ก็มีพื้นที่สีเขียว เรียกได้ว่าเป็นปอดแห่งใหม่แก่คนเมืองกรุง มีชื่อว่า “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง” โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ได้รับการการันตีด้วยรางวัลการประกวดแบบภูมิสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ ในระดับสูงสุด (Outstanding Award) ในประเภท “สุขภาพของสังคมและชุมชน” (Social and Community Health) จากสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ International Federation of Landscape Architects (IFLA) มาแล้ว สถานที่แห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากในเมือง เพราะตั้งอยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 2 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ นั่นเอง ป่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายเพื่อดูแลป่าอย่างยั่งยืนของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมโดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ อีกทั้งได้จัดสรรพื้นที่ขนาด 12 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่ากว่า 9 ไร่ พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้ 2 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำอีก 1 ไร่
พื้นที่ปลูกป่า ได้มีการใช้องค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ในการวิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพดิน ศึกษาและเลือกใช้พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพของดิน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้เดิมของกรุงเทพฯ และเป็นพันธุ์ไม้หายากจำนวนกว่า 270 ชนิด ใช้กล้าไม้จำนวนกว่า 40,000 ต้น ใช้แนวทางในการสร้างป่านิเวศ ที่ผสมผสานทั้งกลุ่มพันธุ์ไม้โตเร็ว ที่ช่วยสร้างร่มเงา และพันธุ์ไม้โตช้าหลากหลายชนิด ในลักษณะปลูกแบบเลียนแบบป่าธรรมชาติ นั่นคือปลูกโดยไม่เป็นแถวเป็นแนว
พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. อาคารนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ กระตุ้นจิตสำนึกของคนเมืองให้เห็นคุณค่าของป่า ทำให้ “คน ป่า เมือง” กลับมาเกื้อกูลและพึ่งพากัน โดยมีรูปทรงอาคารที่คล้ายกับลำต้นของต้นไม้ มีหลังคาที่ใช้ปลูกต้นไม้ในรูปแบบ Roof Garden สำหรับการชมทิวทัศน์ของ “ป่าในกรุง” และมีการสร้างสวนสีเขียวด้วยการปลูกไม้นานาพรรณ เสมือนการติดตั้งฉนวนอย่างดีแก่หลังคา อาคาร และสร้างความกลมกลืนของอาคารกับผืนป่า
อีกทั้งยังมีกำแพงหรือผนังดินช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคารได้เป็นอย่างดี 2. ห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก (Mini Theater) ที่ฉายภาพยนตร์สั้นสร้างแรงบันดาลใจในการส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งปัน สร้างป่า สร้างคน เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นสีเขียว 3. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Skywalk) ทอดยาวไปตามพื้นที่ของป่าที่มีระยะทาง 200 เมตร (สามารถรับน้ำหนักได้ 300 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) เป็นทางเดินเชื่อมไปยัง “หอชมป่า” (Observation Tower) มีความสูง 23 เมตร ซึ่งเป็นไฮไลท์ของพื้นที่แห่งนี้ โดยจะได้เรียนรู้สังคมพืชต่างๆ ระหว่างทางเดิน พร้อมเพลิดเพลินไปกับการชมผืนป่า ผ่านชั้นเรือนยอดตลอดเส้นทาง และชมทัศนียภาพต้นไม้ชนิดต่างๆ ได้รอบทิศทาง 360 องศา เรียนรู้พื้นที่ป่าในเขตเมืองโดยรอบด้วยกล้องส่องทางไกล นับเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าไม้ที่ให้มุมมองความแตกต่างที่น่าตื่นตาตื่นใจและได้อรรถรสอย่างยิ่ง
ปตท. มีความตั้งใจให้ “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง” เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องป่าและระบบนิเวศที่ผสมผสานความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนได้เรียนรู้การปลูกป่าวิถีธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดปริมาณของอนุภาคมลพิษขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอีกด้วย
หากยิ่งมีต้นไม้มากเท่าไร อนุภาคมลพิษที่ล่องลอยในอากาศก็จะลดลงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยลงมากเท่านั้น เพราะต้นไม้เป็นทรัพยากรที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต คอยผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้กับเราอย่างยั่งยืน