ความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีส.ค.ร่วงทั้งประเทศ กทม.-ปริมณฑลอาการหนักสุด มอง3เดือนข้างหน้าดีขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประจำเดือนสิงหาคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ระดับ 30.1 มาอยู่ที่ระดับ 31.9 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (น้อยกว่าค่าฐานที่ 50) สะท้อนว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 และมีสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่อนุญาตให้ธุรกิจบางแห่งเปิดให้บริการได้ โดยดัชนีเอสเอ็มอีภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.8 36.0 และ 29.0 ตามลำดับ แต่ยังต่ำจาก 50 อยู่มาก สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังกังวลต่อภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง
เช็กเงื่อนไขด่วน!! ก่อนชิงสิทธิ ‘เราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย’ 24 ก.ย.นี้
27-28 ก.ย. กลุ่มม.33 รับ 2,500 บ. เช็กสิทธิ www.sso.go.th
บัตรคนจนได้สิทธิอะไรบ้าง? เปิดรายละเอียดเงินช่วยเหลือจากรัฐถึงสิ้นปี ก่อนรื้อใหญ่เปิดขั้นตอนเช็กสิทธิ รับเงินเยียวยา ผ่าน www.sso.go.th โอนรอบต่อไปวันไหน
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายภูมิภาค ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 30.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26.6 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าเดิมที่ต่ำที่สุดเมื่อเดือนก่อนหน้า จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ ทำให้ธุรกิจหลายประเภทกลับมาเปิดดำเนินกิจการและให้บริการได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร และการผลิตอาหาร แม้จะมีข้อจำกัดในการนั่งรับประทานที่ร้าน แต่ยังสามารถขายผ่านเดลิเวอรี่ได้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 29.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 28.7 ภาพรวมของธุรกิจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากภาคการผลิต และการขนส่งสินค้าขยายตัว แต่พื้นที่ยังมีข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมทางสังคมอยู่มาก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของผู้คนยังคงชะลอตัวอยู่ เช่น ธุรกิจสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา เป็นต้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30.7 ค่อนข้างทรงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.6 จากผลกระทบกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ และมีปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 28.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 27.4 หลายธุรกิจมีการขยายตัวของยอดคำสั่งซื้อ เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็ก แต่ธุรกิจโรงแรมและที่พักในพื้นที่ยังคงซบเซาอย่างมาก ส่งผลต่อรายได้และสภาพคล่องของภาคธุรกิจหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว อีกทั้งพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดหลายแห่ง และราคาลำไยปรับตัวลดลงส่งผลต่อรายได้ภาคการเกษตรทำให้ค่าดัชนีรวมของพื้นที่น้อยที่สุดโดยเปรียบเทียบ
และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 36.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.9 จากธุรกิจส่วนใหญ่ยังเปิดดำเนินกิจการได้ และได้รับผลบวกจากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มากนัก และมักอยู่ในเฉพาะพื้นที่โรงแรม/ที่พัก หรือท่องเที่ยวใกล้ที่พักเท่านั้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวไม่ได้รับผลบวกเท่าที่ควร ขณะที่ภาคเกษตรกรมีรายได้ปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 33.4 เนื่องจากพื้นที่มีข้อจำกัดในการเดินทางค่อนข้างน้อยโดยเปรียบเทียบ ทำให้หลายธุรกิจยังพอดำเนินการได้ โดยเฉพาะร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป และธุรกิจด้านความงาม รวมไปถึงการผลิตอาหาร และกลุ่มงานไม้และเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านที่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 45.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.9 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น มีผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งมีความคาดหวังว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไฮซีซั่นของปลายปี และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่น่าจะดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ภายใต้ข้อกำหนดการควบคุมโรค
“ปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการเอสเอ็มอีประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2. ด้านต้นทุน 3. ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน 4. ด้านคู่แข่งขัน และ 5. ด้านแรงงาน”นายวีระพงศ์กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่