“เวลาไปไหว้เจ้ากับอาม่าจะได้รู้ว่าไหว้เทพองค์ไหนอยู่”
คือคำตอบเรียบง่ายของนิสิตหญิง มศว ผู้หยิบพ็อกเก็ตบุ๊กส์ ‘เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ ผลงาน ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช จากชั้นวาง ณ บูธสำนักพิมพ์มติชน i48 ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ไม่ใช่คำตอบในเชิงวิชาการซับซ้อน หากแต่สะท้อนการเข้าถึงสังคมไทยแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ (อ่านข่าว นิสิตอยากรู้ ไหว้เจ้าองค์ไหนเวลาไปกับอาม่า แวะซื้อ ‘เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ คอปวศ.-เศรษฐกิจช้อปจุใจ)
“ตามซื้อทุกเล่ม ตั้งแต่ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ จนถึงเล่มนี้” คืออีกหนึ่งเสียงจากคุณครูผู้ต่อคิวขอลายเซ็นผู้เขียนในช่วงบ่ายของวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของผลงานรับว่า “เขิน” แต่ดีใจที่ผู้คนให้การตอบรับเป็นอย่างดีเกินกว่าที่จินตนาการไว้
ท็อป 5 ต่อเนื่อง คืออันดับที่ เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ สถิตในใจผู้อ่าน
‘ค้นรากเหง้า อ่านรูปแบบ สำรวจความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อและศรัทธาผ่านประติมากรรมเทพเจ้าในศาลเจ้าจีน กรุงเทพฯ’
คือข้อความบนโปรยปกหน้า บอกเนื้อหาภายใน 282 หน้ากระดาษที่คุ้มค่าในทุกถ้อยคำ (สั่งซื้อ คลิกที่นี่)
อัญเชิญเทพเจ้ามาสถิตในเล่มรวมกว่าร้อยศาลที่นักวิชาการท่านนี้ลงพื้นที่สำรวจวิจัยอย่างทุ่มเทกว่าปีครึ่ง ก่อนปรับให้เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กส์ โดยคงไว้ซึ่งข้อมูลเข้มข้น ทว่า อ่านเพลินจนแทบวางไม่ลง
“ขอบคุณทั้งองค์เทพเจ้า ขอบคุณผู้อ่านทุกคน คิดว่าส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เพราะคนศรัทธาในองค์เทพ จึงอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติม ขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ สังคมไทยเราอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว ทั้งอาหาร การแสดง พิธีกรรม ศาลเจ้าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราเข้าไปบ่อยๆ ซึ่งนอกจากเข้าไปไหว้ด้วยความศรัทธาแล้ว ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีก ปัจจุบันพบว่าคนในบ้านเราเริ่มสนใจวัฒนธรรมเชิงลึกมากขึ้น ดีใจที่มีคนสนใจศิลปะจีน ศาลเจ้าและเทพเจ้า ทำให้มีกำลังใจ มีแรงที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป”
แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง แคะ
คือ 5 กลุ่มหลักของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามแต่ครั้งอดีตกาล สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามสะท้อนรากเหง้าตัวตน สรรค์สร้างสถาปัตยกรรมแห่งจิตวิญญาณ ดังเช่นศาลเจ้าจีนที่สถิตของเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเลบนผืนแผ่นดินไทย
ผศ.ดร.อชิรัชญ์ คือ ‘ลูกหลานจีนโพ้นทะเล’ เต็มตัว
เฉินหลิ่วหลิง คือชื่อจีนตามสำเนียงจีนกลางที่ตั้งโดย ‘อากง’ ด้วยคำอธิบายว่า หมายถึง เสียงหยกชิ้นเล็กๆ ซึ่งเวลาโดนลมจะมีเสียงดังน่ารัก
เป็นลูกสาวคนสุดท้องของ พิชัย ไชยพจน์พานิช อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้มีเชื้อสายไหหลำ
มารดามีเชื้อสายแต้จิ๋ว เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวอย่างดี
มีพี่ชาย 2 คน คนโตเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ คนรองประกอบธุรกิจส่วนตัว
“พี่ชายคนโตสายวิทยาศาสตร์จ๋า เขาก็สงสัยว่าทำไมต้องสนใจอดีต ประเทศชาติต้องมองไปข้างหน้าแล้วมองอนาคต พี่ชายคนกลาง เวลาไปศาลเจ้าด้วยกัน สิ่งที่เขามอง กับเรามองก็ต่างกัน เขามองในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเรื่องการค้า บูชาเรื่องค้าขาย ทำบุญ” เจ้าของผลงาน เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ กระซิบเบาๆ
ผศ.ดร.อชิรัชญ์ จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ไปศึกษาด้านศิลปะจีน ณ สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จนจบปริญญาเอก
ปัจจุบันเป็น ‘อาโกว’ ของหลานๆ 5 คน และ ‘อาจารย์หลิง’ของเหล่านักศึกษา ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
•จากหนังสือ‘ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ถึง‘เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรในขอบเขตและประเด็นที่เจาะลึก?
ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯจะเน้นเรื่องของงานสถาปัตยกรรมเพราะเป็นของที่เราเห็นได้ง่ายสุด เมื่อเข้าไปจะเห็นอาคาร รูปทรงหลากหลายแบบสามารถบอกความเป็นกลุ่มภาษาได้อย่างไรบ้าง แต่ในส่วนของประติมากรรมเทพเจ้าจะเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ซึ่งตอนที่สำรวจครั้งแรกในเรื่องของสถาปัตยกรรมนั้น มีความสงสัยต่อเนื่องมาว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมบอกกลุ่มคนได้ แล้วองค์เทพเจ้าสามารถบอกกลุ่มคนได้เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดก็พบว่าบ่งบอกได้เหมือนกัน เช่น รูปแบบนี้เห็นได้ชัดว่าเขาเป็นคนแต้จิ๋ว หรือความเชื่อแบบนี้รู้เลยว่าเขาเป็นคนไหหลำ เพราะฉะนั้น เนื้อหาทั้งสองเล่มต่างกันในแง่ของขอบเขตการสำรวจ แต่คำถามที่ถูกตั้งขึ้นจะคล้ายกัน คือเราบอกร่องรอยอะไรได้บ้างผ่านงานศิลปกรรมเหล่านี้
•ไปมาร้อยกว่าศาล แล้วเทพเจ้าจีนโดยภาพรวมมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน?
มีเยอะ แต่ไม่เคยเห็นว่ามีคนเคยทำจำนวนไว้ไหม สาเหตุที่เยอะ เพราะนอกจากเทพส่วนกลาง ซึ่งคนจีนทั่วไปนับถือ ไม่ว่าจะเป็นกวนอู เง็กเซียนฮ่องเต้ ฯลฯ จีนพื้นถิ่นเขาก็มีเทพของตัวเองอีกมากมายแตกสายไป ไหหลำ อาจมีเทพอีกเยอะแยะที่ฮกเกี้ยนไม่มี อนาคตก็อาจจะมีเพิ่มอีกได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้ามองในแง่ปรากฏการณ์ หากมีภาวะอะไรก็แล้วแต่ หรือเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ ก็อาจมีการบูชาเทพเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วกับคนจีนแต้จิ๋วที่อพยพมา แล้วสร้างเทพปุนเถ้ากงขึ้น เทพองค์นี้ แต่เดิมไม่เคยมี
นอกจากนี้ ลักษณะอย่างหนึ่งของเทพในศาสนาเต๋า คือคนที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ทำคุณงามความดี ชาวบ้านยกย่อง พอเสียชีวิตลง ก็กลายเป็นเทพ อย่างผู้อุปถัมภ์ศาลเจ้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายๆ แห่ง พอเขาตาย ในที่สุดก็มีป้ายให้ตั้งไหว้เหมือนเป็นเทพเลยด้วยซ้ำ เพราะถือว่ามีคุณูปการแก่ศาลเจ้า เพราะฉะนั้นอนาคตเทพย่อมเพิ่มขึ้นด้วยธรรมชาติของศาสนาและความเชื่อของชาวบ้าน
•เมื่อมีเทพที่เพิ่มขึ้น แล้วมีเทพที่ถูกหลงลืม เสื่อมความนิยมทั้งที่เคยมีอยู่หรือสำคัญมาก่อนหรือไม่ ในสังคมแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป?
อาจจะมี เพราะความเชื่อก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เทพที่ถูกลืม ยังนึกไม่ออก แต่เทพที่ลดบทบาทลงหรือเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือเทพซีหวังหมู่ ซึ่งเป็นเทพผู้หญิง ในช่วงเวลาหนึ่งเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เป็นเทพที่ดูแล
ดินแดนอมตะ เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตาย เมื่อคนตาย ก็อยากไปอยู่ในดินแดนอมตะ แต่ปัจจุบัน เทพองค์นี้ก็ไม่ได้ถูกเชื่ออย่างนั้นแล้ว กลายเป็นเทพสตรีที่ผู้คนไหว้เพื่อความเป็นมงคล จึงเห็นได้ชัดว่ามีความเปลี่ยนแปลง
•บ้านเรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาเป็นช่วงๆ อย่างจตุคามรามเทพ และท้าวเวสสุวรรณ ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นกับเทพเจ้าจีนด้วยหรือไม่ ทั้งในไทยและที่อื่นๆ ของโลก?
ยังนึกไม่ค่อยออก แต่มีเทพท็อปไฟว์ อย่างเจ้าแม่มาจู่ หรือที่เรียกว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เวลาเราไปปัตตานี ต้องไปไหว้ คือเป็นที่กล่าวกันว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ปัตตานีศักดิ์สิทธิ์กว่าที่อื่นๆ ทั้งที่เป็นเทพองค์เดียวกัน
อีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นและยังไม่ดับคือ ไฉ่ซิงเอี้ย เท่าที่เก็บสถิติจริงๆ แทบไม่มีอะไรที่เราเรียกว่าเทพไฉ่ซิงเอี้ยให้เราเห็นได้ชัดเจนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่เห็นเทพปุนเถ้ากง เทพมาจู่ เทพกวนอู
เจ้าแม่กวนอิม
แต่ในช่วงสัก10-20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าไฉ่ซิงเอี้ยบูมขึ้นมาในด้านที่เกี่ยวกับโชคลาภ เงินทอง ธุรกิจการค้า ตอนนี้กระแสก็ยังไม่ตก เพราะทุกคนยังอยากได้เงินอยู่ (หัวเราะ)
•เมื่อสักครู่กล่าวถึง เทพท็อปไฟว์ อย่างนั้นขอถามว่า เทพเจ้าจีนที่ได้รับความนับถือศรัทธามากที่สุด 5 อันดับในไทย คือองค์ใดบ้าง?
อาจไม่ได้เรียงตามลำดับความนิยมมากที่สุด แต่เห็นว่าเดี๋ยวนี้เป็นไฉ่ซิงเอี้ย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น, เทพไท่ส่วย เวลาปีชง ต้องไปแก้, เจ้าแม่มาจู่หรือลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเดิมเป็นเทพที่ดูแลเรื่องการเดินเรือ แต่หลังๆ บางแห่งไปผูกกับเรื่องความรัก คนก็ไปบูชาเรื่องนี้ นอกจากนี้ก็มีเทพกวนอูและปุนเถ้ากง ที่คนยังพูดถึงค่อนข้างบ่อย
•ส่วนตัวบูชาเทพองค์ไหนเป็นพิเศษหรือไม่ ตอนทำวิจัยและออกหนังสือ ขอพรให้ขายดีไหม?
เอาจริงๆ ไม่ใช่คนสายมู ที่บ้านก็ไม่ได้ไปผูกติดชีวิตกับเรื่องเทพเจ้า ไม่ว่าจะเป็นสายพุทธ หรือสายไหน เรื่องการไหว้ เราไม่ได้ไปขอ อยากได้อะไรควรทำด้วยตัวเองมากกว่า แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ท่านก็จะช่วยคุ้มครองเรา เวลาไปไหนก็ควรไหว้ ให้ความเคารพ ไม่ลบหลู่มากกว่า แต่ตอนช่วงวิจัย ก็จะขอว่าให้ราบรื่น (หัวเราะ) ขอทุกองค์ เพราะปัญหาอย่างหนึ่งเวลาไปศาลเจ้า สิ่งที่กังวลที่สุดคือ เขาไม่ให้ถ่ายภาพ ไม่ให้ข้อมูล เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องไปขอคือ ขอเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อนำไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
•อธิษฐานกับเทพเจ้าจีน เป็นภาษาไทยหรือจีน?
ภาษาไทย (หัวเราะ) อย่างน้อยคนในพื้นที่ที่เขาเป็นเจ้าของ เป็นคนดูแลศาลเจ้า พอเขาเห็นว่าเราให้ความเคารพสถานที่ จะช่วยเหลือเรา
มีประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ตอนเรียนปริญาเอกที่จีน เมื่อก่อนตอนสำรวจ ก็ถ่ายรูปอย่างเดียว เป็นคนไม่ค่อยยกมือไหว้ ซึ่งค้นพบว่าเจ้าของศาลที่จีนจะไม่ค่อยพอใจ ยิ่งในชนบท เขาจะรู้สึกว่า เรามาทำอะไร ไม่ไหว้ ไม่บอกกล่าว พอหลังๆ ได้เห็นว่าเจ้าของศาลรักและศรัทธาองค์เทพเจ้าของเขา อย่างตอนไปมณฑลฮกเกี้ยน จะถ่ายภาพเสาโบราณที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง เขาให้ไปถามอาม่าในวิหารหลัก อาม่าบอกว่า เอาอย่างนี้ ให้โยนไม้เสี่ยงทายถามองค์เจ้าแม่ ว่าท่านให้ไหม ถ้าท่านให้ก็โอเค ทั้งชีวิตเกิดมา ไม่เคยโยนเลย เราเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อาจไม่ได้เฉพาะเจาะจง ในใจเลยบอกประธานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้ว่าขอถ่ายรูปเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์กับการศึกษา แล้วโยนไม้ไป โยนครั้งแรกปุ๊บ ดูไม่ออก (หัวเราะ) ต้องหันไปถามอาม่าว่าท่านโอเคไหม อาม่าบอก ท่านให้ เลยได้ถ่ายรูป
•เทพเจ้าจีน มีการผสมผสานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่น เหมือนผี-พุทธ-พราหมณ์ไหม?
มี จริงๆ แล้วมีการรวมในหลายลักษณะ อย่างเทพปุนเถ้ากง เป็นเทพจีนชื่อจีน แต่อย่างที่บอกว่าในจีนไม่มี เป็นความเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา พอเป็นชื่อใหม่ ของใหม่ เพราะฉะนั้นรูปแบบจะเริ่มไม่ตายตัว ชื่อของท่าน หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ณ ที่แห่งนี้ แสดงว่าเป็นใครก็ได้ที่คนที่นี่มองว่าเป็นใหญ่ ดังนั้น อาจใช้เทพจีนหน้าตาจีนๆ เหมือนเดิมก็ได้ ที่ใช้เป็นรูปทหารก็มี หลายครั้งมีการนำพระพุทธรูปแบบไทยๆ มาเป็นปุนเถ้ากงก็มี หรือบางแห่งเอารูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งแล้วบอกว่านี่คือปุนเถ้ากงก็มี ซึ่งไม่แปลก
ในขณะที่บางครั้ง เทพที่มีตัวตนในจีน พอเข้ามาในไทย ท่านก็มีชื่อไทย อย่างเฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ สมมุติคนไทยถามคนจีนว่า เทพองค์นี้ชื่ออะไร คนจีนบอก อ๋อ เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ แน่นอนว่าเรียกยาก คนไทยจำไม่ได้ ต้องหาจุดสังเกตในการเรียก ตัวอย่างคือเฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ ในศาลเจ้าพ่อเสือ ท่านมีชื่อไทยว่า เจ้าพ่อใหญ่ ถามว่าแล้วทำไมเรียกศาลเจ้าพ่อเสือ เพราะท่านมีเทพบริวารองค์หนึ่งเป็นเสืออยู่ด้านซ้ายสุด เข้าใจว่าคนไทยพอเข้าไปในศาลแล้วคิดว่า ฉันจะเรียกศาลนี้ว่าอะไร ก็เห็นเสือเป็นจุดหมายในการเรียกที่ง่ายที่สุด เลยเรียกศาลเจ้าพ่อเสือ กลายเป็นว่าหลายคนคิดว่า เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ คือเจ้าพ่อเสือ
นอกจากนี้ เจ้าแม่มาจู่ เจ้าแม่เทียนโฮ่ว ชื่อเรียกยาก คนไทยไม่คุ้น บางครั้งเราจะได้ยินชื่อว่า เจ้าแม่ทับทิม อาจเพราะเมื่อก่อนมีการนำเครื่องประดับ เพชรพลอย ทับทิมไปถวาย
•ท้ายคำนำที่เขียนถึงข้อสันนิษฐานบางประการในหนังสือยังมี ‘ช่องว่าง’ ให้ ‘คิดต่าง’ หรือศึกษาต่อ คืออะไร?
ที่เขียนอย่างนั้น เพราะงานวิชาการโดยปกติมันไม่มีอะไร absolute อยู่แล้ว พอศึกษาเรื่องเทพเจ้าจีน อย่างแรกเรารู้เลยว่า พอมันเป็นงานโบราณแน่นอนไม่มีใครเกิดทัน จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เมื่อมีหลักฐานเพิ่ม อาจเปลี่ยนแปลง อย่างที่ 2 การศึกษาเรื่องเทพเจ้าจีน ในหนังสือเขียนบอกไว้เลยว่ามีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เมื่อใครเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า ก็อาจมีข้อเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในเชิงรูปแบบศิลปกรรม ด้วยความที่ท่านเป็นศักดิ์สิทธิ์ การเข้าไปจับต้องหรือสำรวจโดยละเอียดเรื่องลวดลาย ทำไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น ข้อสันนิษฐานเรื่องรูปแบบว่าแบ่งได้ตามสกุลช่าง นั่นคือตามที่ตาเห็น ตามที่มีข้อมูลให้เข้าถึง
ส่วนในเชิงความเชื่อหรือกลุ่มภาษาก็เช่นเดียวกัน เวลาไปสัมภาษณ์ หลายๆ ศาล คนดูแลซึ่งไม่ใช่เจ้าของศาล บางครั้งข้อมูลที่ถามไป รอบแรกได้ข้อมูลแบบหนึ่ง ไปถามอีกรอบได้มาอีกเวอร์ชั่น เพราะฉะนั้น ต่อไปอาจพบว่าที่อาจารย์หลิงเขียนมา ไม่ถูก ข้อมูลมันคลาดเคลื่อนด้วยเหตุนี้ อนาคตถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม ก็คิดต่างได้ กูรูด้านนี้มีเยอะอยู่เหมือนกัน พอไปคุยกับเขา ก็ได้ข้อมูลน่าสนใจเยอะ แต่อาจจะไม่ได้เขียนหนังสือเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ต้องขอบคุณทั้งคนที่ให้สัมภาษณ์และให้ข้อมูลที่ทำให้งานวิจัยสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งบางอย่างเราคิดต่างจากเขาก็มี
•คนจีนมีหลายกลุ่ม แล้วเทพเจ้าจีนแยกกลุ่มไหม หรือเป็นการให้ลำดับความสำคัญที่ต่างกันในเทพแต่ละองค์?
จริงๆ แล้วมีแยกเลย พื้นที่การเกิด เกิดต่างกัน อย่างเช่น ฮกเกี้ยน ที่เราเห็นคือเทพชิงสุ่ยจู่ซือกง ชัดเจนในกรุงเทพฯ หรือถ้าเป็นไหหลำ จะเห็นว่าเป็นเทพสุยเหว่ยเซิ่งเหนียง แต้จิ๋ว จะเป็นเสวียนเทียนซั่งตี้ หรือปุนเถ้ากง อะไรอย่างนี้
ถามว่าจีนภาษาอื่นนับถือไหม เท่าที่สังเกต ปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า พอคนเหล่านี้อพยพกันมา แม้เราจะบอกว่าตอนแรกเขาอยู่แยกตามกลุ่มภาษา แต่แน่นอนท้ายที่สุดเมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้อยู่ห่างกันมากขนาดนั้น จึงมีการผสมผสาน เช่น เราอาจเห็นบางศาลบูชาเทพชิงสุ่ยจู่ซือกง แต่อาจอยู่ในตำแหน่งบริวาร เพราะมีเทพในใจของเขาอยู่แล้วซึ่งจะตั้งเป็นเทพประธาน แต่จะมีเทพบางองค์ที่เป็น universal ใครๆ ก็นับถือ อย่างเช่นกวนอู หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม เราจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มภาษาไหน ก็จะบูชาเป็นเทพประธาน ซึ่งมีอยู่หลายศาลเหมือนกัน
•ชีวิตจริงเป็นคนอารมณ์ดี มีมุขเยอะ ในบทบาทอาจารย์ ดุไหม เข้มงวดเรื่องไหนเป็นพิเศษ?
ก่อนไปจีน ดุ (หัวเราะ) แต่หลังกลับจากจีน ต้องปรับวิธีสอนเหมือนกันเพราะเด็กรุ่นนี้ไม่เหมือนกับ 10 ปีที่แล้ว หรือสมัยตัวเองยังเป็นนักศึกษา หลายครั้งความดุ ใช้ไม่ได้ผล แต่ต้องคุยด้วยเหตุผล คนรุ่นใหม่ต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้ และไม่ให้คุณทำแบบนี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่อาจารย์บอกว่า ไม่ให้ทำ ก็คือจบ
ตอนนี้ ถ้าดุ คือเรื่องวินัยในห้องเรียนมากกว่า ส่วนเรื่องวิชาการ เวลาเด็กมาถาม ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็จะอธิบายว่า คุณแน่ใจเหรอว่าจะทำอย่างนี้ มันอ่อนไปไหม อะไรประมาณนี้
•คิดว่าคนรุ่นใหม่ สนใจศิลปะจีนมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่วิชาการ?
คือถ้าดูจากประเด็นสารนิพนธ์นักศึกษาปริญญาตรี จะเห็นชัดว่าเริ่มมาทางนี้มากขึ้น เพราะเมื่อก่อน อาจรู้สึกว่าดูยากจัง เวลาทำเรื่องจีน ก็เป็นจีนในจีนไปเลย แต่พอเราเริ่มทำเรื่องศาลเจ้า ก็พยายามเอาเนื้อหาที่วิจัยไปสอนบ้าง เด็กก็มีช่องมากขึ้นว่า ศาลเจ้าก็ทำวิจัยได้ ไม่ได้ทำได้เฉพาะวัดพุทธแบบเถรวาท วัดโบราณ เท่านั้น ช่วงหลังนักศึกษาหลายคนเริ่มทำเรื่องเกี่ยวกับศาลเจ้า
•ศาลเจ้าจีนมีแล้ว เทพเจ้าจีนก็มีแล้ว เล่มหน้าวางแผนนำเสนอประเด็นไหน?
(หัวเราะ) เล่มหน้าออกจากศาลเจ้าแล้ว 2 เล่มที่ผ่านมา มาจากงานวิจัย ตอนนี้วิจัยเรื่องเกี่ยวกับวัดจีน นิกาย กับอนัมนิกายในกรุงเทพฯ อยู่ เล่มต่อไปถ้าจะมีการพิมพ์เผยแพร่ น่าจะเป็นเรื่องนี้
อ่านข่าว ‘อุตตม’ อ่านจนแม่ไล่ไปเล่น พลิก ‘เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ สนใจมาก รูปสวย บรรยายครบ รู้หมดว่าองค์ไหน