นับจากวันนั้นถึงวันนี้ครึ่งปีแล้ว ในเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สุทธิพันธุ์” จากที่ครื้นเครง มิตรรักแฟนเพลงทั่วประเทศพากันสดุดี เริ่มจะกลายเป็นการพูดคุยเฉพาะกลุ่ม
กิจกรรมหลักๆ พาเที่ยว พาวิ่ง พากิน เล่นดนตรีในสวน วนอยู่แค่นี้
ระดับที่เรียกว่า “ผลงาน” ยังหาไม่เจอ
การเริ่้มต้นของ “ชัชชาติ” ดูยิ่งใหญ่ในแง่นโยบาย
ในการหาเสียงใช้นโยบายมากถึง ๒๑๖ ข้อ
ผู้ว่าฯ กทม.ที่ชนะการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ถล่มทลาย มโหฬาร มากมายก่ายกอง พร้อมกับคำยกย่องว่า ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงประชาชน ด้วยต้นทุนไม่กี่บาท
ผิดกับรัฐบาลบริหารโง่ๆ ลงทุนเป็นล้านๆ ก็ไม่ถึงหูประชาชน
มันก็แปลก…มาวันนี้ “ชัชชาติ” กลับไม่ได้ใช้โซเชียลในการประกาศผลงานของตัวเองว่า ที่เป็นชิ้นเป็นอันนั้นมีอะไรบ้าง
หรือว่ามันไม่มี จึงไม่รู้ประกาศอะไร
นอกจาก พาเที่ยว พาวิ่ง พากิน เล่นดนตรีในสวน
ที่แปลกยิ่งกว่า ต้นเดือนธันวาคม “นิด้าโพล” สร้างความฮือฮา ประกาศผลสำรวจประชาชน หัวข้อ “๖ เดือนผู้ว่าฯ ชัชชาติ”
พบว่าส่วนใหญ่ ค่อนข้างพอใจ เพราะขยัน เปลี่ยนแปลงดีขึ้น
ได้คะแนนการพัฒนา กทม.สูงสุด เรื่อง แก้ไขปัญหาสุขภาพ สาธารณสุข
ภาพลวงตา!
เป็นความเชื่อที่เกิดจากภาพลักษณ์ของ “ชัชชาติ” เพราะเมื่อลงไปดูเนื้อใน กลายเป็นว่า ยิ่งกว่าไม่มีผลงาน
ยกตัวอย่างตามนี้ครับ….
“อัษฎางค์ ยมนาค” นักวิชาการอิสระ โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊กว่า
——————
“ล้ม เลิก”
เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนหรือผลทางการเมืองของตนเองและพวกพ้อง?
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึง “การเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle EV) ในคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร” ว่า จะมีการพิจารณาว่าจะทำต่อไหม
๑.ถ้าทำต่อจะคุ้มค่าไหม
๒.หากจะทำต้องดูเรื่องความคุ้มทุนด้วย
๓.เนื่องจากเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน
มาดูการขนส่งสาธารณะอื่นๆ
ข้อมูลเท่าที่ผมมีคือ
ขสมก.เริ่มต้นเดินรถเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยตลอดระยะเวลากว่า ๔๓ ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง องค์กรนี้ขาดทุนสะสมทุกปี ยกเว้นปี ๒๕๓๕ ปีเดียวเท่านั้นที่มีกำไร ๖๑ ล้านบาท
ในปี ๒๕๖๓ ขสมก.ขาดทุนเฉลี่ยถึงเดือนละ ๓๖๐ ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ๒๓๓ ล้านบาท หรือ ๖๕% เป็นการจ่ายภาระดอกเบี้ย
ในปี ๒๕๖๓ ขสมก.มีหนี้สิน ๑๒๗,๗๘๖ ล้านบาท มีผลขาดทุนสะสมกว่า ๙,๐๐๐ ล้านบาท
ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ มีการประเมินว่าหนี้สิ้นของ ขสมก.จะเพิ่มเป็น ๑๒๗,๗๘๖ ล้านบาท จึงต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมี ๔ พี่น้อง ที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ คือ การบินไทย, ขสมก., การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เผยเมื่อพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. มีภาระการบริหารงานขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดขาดทุน ๑.๖ แสนล้านบาท
นอกจากนี้ รถเมล์ของ ขสมก.ส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม ต้นทุนบำรุงรักษาสูง ปล่อยควันพิษซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
คำถามคือ ขสมก. บขส. รฟท. ควรยกเลิกกิจการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตามวิธีคิดและวิธีการบริหารกิจการสาธารณะของผู้ว่าฯ ชัชชาติด้วยหรือไม่
ท่านผู้ว่าฯ ได้พิจารณาถึงการเดินรถของ ขสมก.ในเรื่องความคุ้มค่า คุ้มทุนหรือไม่ เนื่องจากเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน
ตกลงปัญหาจริงๆ คือความคุ้มค่า คุ้มทุนและการคำนึงถึงเงินภาษีของพี่น้องประชาชน หรือการไม่เข้าใจปรัชญาของการบริหารกิจการสาธารณะ หรือเพราะการเมือง?
ล้ม เลิก ผลงานที่คนเก่า (ทั้งผู้ว่าฯ อัศวินและนายกฯ พลเอกประยุทธ์) ที่ทำไว้ เพื่อไม่ให้ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของคนเก่าที่ได้ริเริ่มไว้หรือไม่?
—————
ในนโยบาย ๒๑๖ ข้อของ “ชัชชาติ” มีนโยบายหนึ่งชื่อว่า “พิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือกเชื่อมต่อการเดินทาง”
รายละเอียดบอกว่า…
….เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้นและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากการเดินทางทางเรือสามารถคำนวณเวลาได้
ตามแผนโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ (W-Map) ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานถึงคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินเรือกว่า ๓๐ คลอง ระยะทางกว่า ๔๐๐ กม. แต่ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีการเดินเรืออย่างเป็นกิจจะลักษณะเพียง ๔ สายเท่านั้น ได้แก่
๑.แม่น้ำเจ้าพระยา (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือโดยสาร MINE เรือเอกชนท่าสาทร-บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ และเรือข้ามฟาก)
๒.คลองแสนแสบ
๓.คลองผดุงกรุงเกษม
๔.คลองภาษีเจริญ (ปัจจุบัน กทม.เคยเดินเรือตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ได้ยกเลิกการให้บริการไปในช่วงต้นปี ๒๕๖๕)
ดังนั้น กทม.จะพิจารณาทบทวนเส้นทางเดิม เส้นทางเดินเรือตามแผน W-Map หรือเพิ่มเส้นทางใหม่ที่เหมาะสม โดย
ให้บริการด้วยเรือไฟฟ้าที่ออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ไม่ก่อมลพิษอากาศและทางเสียง ……
ช่วยส่องกันหลายๆ ตาครับ เรือไฟฟ้า มันก็มีในนโยบายของ “ชัชชาติ”
ถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ตัวเองตั้งขึ้นคือ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้นและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากการเดินทางทางเรือสามารถคำนวณเวลาได้ แล้วทำไมกำไร-ขาดทุน ถึงมาก่อนคุณภาพในการเดินทางของคนกรุง
ไม่ใช่เรื่องเรือไฟฟ้าอย่างเดียวครับ
สายไฟฟ้าลงดิน “ชัชชาติ” ก็ใช้วิธีคิดเดียวกันคือ กำไร ขาดทุน สุดท้ายตัดสินใจไม่ทำต่อ
สองสามวันก่อน “ชัชชาติ” แก้ข่าวว่า
“…ที่มีคนบอกว่าเราไปยกเลิกโครงการ ความจริงแล้วท่อร้อยสายไฟเป็นโครงการของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ที่ทำมาก่อน ซึ่ง กทม.จะไปทำท่อร้อยสายไฟเองทั้งกรุงเทพฯ ต้องใช้งบประมาณ ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท โดยมีการทำทดลองไปแล้วส่วนหนึ่ง ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ๑๐ กิโลเมตร แต่หาลูกค้าไม่ได้…”
คือ… มันไม่ต้องทั่วกรุงเทพฯ หรอกครับท่านผู้ว่าฯ
เอาแค่ย่านกลางเมืองให้หมดก่อน
บังคับเจ้าของบริษัทสายสื่อสารสิครับ เพราะทุกวันนี้รกรุงรังไปหมด ห้ามเอามาพาดกับเสาไฟฟ้า
จับลงดินให้หมด
หรือว่ากลัวเอกชนจะขาดทุน
นี่ยังไม่พูดเรื่องทางเท้า ผู้ว่าฯ คนก่อนทำซะดิบดี ผู้ชะชะช่ากลับปล่อยให้หาบเร่แผงลอยมายึดครอง
ถามจริงมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.เพื่ออะไรกันแน่
เริ่มมีคนนินทาท่านเรื่อง “ใบสั่ง” แล้วนะ.