“พนิต” ยก ” ชัชชาติ” กล้าล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิวกทม. หลังใช้นโยบาย Open Data สร้างระบบตรวจสอบให้ปชช . แนะ รัฐบาลเดินตามเชื่อตัดตอนคอรัปชั่นได้
วันที่ 15 กค.นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าฯกทม.โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth – พนิต วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง “นโยบาย Open Data ล้างวัฒนธรรมหักหัวคิว สร้างการตรวจสอบให้กับประชาชน”ว่า จากโพสต์ก่อนหน้า ผมได้พูดถึง การเปลี่ยนผู้ว่า ฯ กรุงเทพ จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เข้ามาใช้และบริหารงานในกรุงเทพ เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบ ฯ ขึ้นแสดงบน Website และการนำแอพ Traffy Fondue มาใช้ในการร้องเรียนปัญหา
ขอชื่นชมท่าน ผู้ว่า ฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้นำนโยบาย Open Data ข้อมูลงบ ฯ ขึ้นแสดงบน Website ซึ่งไม่เคยมีผู้ว่า ฯ คนไหนทำมาก่อน และนโยบายนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบว่าภาษีที่จ่ายไปใช้ไปกับอะไรบ้าง และนโยบายนี้จะล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิว ของการเมือง กทม. ได้
ย้อนกลับไปในสมัยที่ตนเป็นรองผู้ว่า ฯ กทม. เมื่อราวประมาณ 17 ปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองครั้งแรกในสนามของ กทม. คือการเป็นรองผู้ว่า ฯ บนความท้าทายและความใหม่ของผม ได้มองเห็นวัฒนธรรมการหักหัวคิว ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง, การล็อคสเปค หรือแม้กระทั้งการเก็บเปอร์เซ็นต์
ปัจจุบัน โลกมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเองก็มีการตื่นตัวและมีความพร้อมในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเอง การที่มีนโยบาย Open Data โดยการนำข้อมูลงบประมาณขึ้นแสดงบน Website จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบไม่ให้เกิดการคอรัปชั่น ทั้งของข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมือง จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร สิ่งเหล่านี้จะเป็นการล้างบาง และจะทำให้การเมือง กทม.สะอาดขึ้น และหาก ส.ก.บริสุทธิ์ใจ ก็ควรสนับสนุนนโยบาย Open Data ให้เกิดขึ้นทั้งใน กทม. และเขต เช่นกัน
แต่นโยบาย Open Data ไม่ควรเกิดขึ้นแค่กรุงเทพ แต่ควรสะท้อนและเป็นบทเรียนให้รัฐบาล ต้องมองให้เห็นประโยชน์ในยุค Digital ให้ได้มากว่าแค่เป็นเครื่องมือในการทํา PR แต่ควรนำมาใช้สร้างความโปร่งใสในทำงาน ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ และสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการขจัดการเมืองแบบเก่า และช่วยกันในการตัดตอนคอรัปชั่นในประเทศได้
“หากกทม. หรือ จังหวัด รวมถึงรัฐบาล ในประเทศไทยมีการจัดทำนโยบาย Open Data วัฒนธรรมการหักหัวคิว ก็จะโดนทะลายออกไปจากการเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับระบบราชการ และระบบการเมือง ซึ่งเป็นก้าวเเรกในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้ภาษี และงบประมาณได้อย่างแท้จริง”นายพนิต กล่าว