พรุ่งนี้ ‘ธงทอง’ เจรจา ‘บีทีเอส’ ทบทวนสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว คาด กทม.เก็บค่าตั๋ว ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จะประชุมหารือร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนัดแรก ดังนั้น อาจจะยังไม่มีข้อสรุปอะไรออกมา
นายธงทองกล่าวว่า โดยจะหารือกันในหลายประเด็น เช่น สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ทำสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2555 วงเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท เพื่อมาดูว่ามีข้อมูลหรือสมมุติฐานอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วบ้าง ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงภาระหนี้ค่าติดตั้งระบบและเดินรถส่วนต่อขยายช่วยแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ที่บีทีเอสซีได้ยื่นฟ้อง กทม.จะเป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ต้องหารือร่วมกันด้วย
“การหารือกับบีทีเอสในครั้งนี้เพื่อทบทวน และพิจารณารายละเอียดสัญญาต่างๆ ในการทำธุรกิจร่วมกันที่ยังเหลืออยู่ เพราะ กทม.กับบีทีเอสก็ทำธุรกิจร่วมกันมาหลายสิบปี มีอะไรก็นำมาถกกันในวันพรุ่งนี้ ส่วนจะมีอะไรที่เป็นข้อสรุปร่วมกันได้บ้างต้องรอฟังหลังประชุมเสร็จ” นายธงทองกล่าว
แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า ตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มีแนวคิดจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังเปิดใช้ฟรีมาหลายปี โดยยึดตามโมเดลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เก็บค่าแรกเข้า 14 บาท จากนั้นเก็บเพิ่ม 2 บาท/สถานี โดยค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท และเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียวที่สถานีต้นทาง เช่น นั่งจากสถานีคูคต จะเสีย 14 บาท มาถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเสีย 59 บาท เป็นต้น
“ท่านผู้ว่าฯมองว่าโมเดลของทีดีอาร์ไอพอไปได้ เพราะค่าโดยสารสูงสุดยังเก็บ 59 บาทเท่ากับปัจจุบัน เพื่อ กทม.จะได้มีรายได้มาชำระหนี้บีทีเอส ซึ่งส่วนต่อขยายนี้มีผู้โดยสารประมาณ 2-3 แสนเที่ยวคนต่อวัน ส่วนผู้โดยสารทั้งระบบ ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายอยู่ที่ 5.9 แสนเที่ยวคนต่อวัน ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน” แหล่งข่าวกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่