04 Jun 2021 15:58 น.
อ่าน 442 ครั้ง
รฟท.ยันรอคำสั่งศาลปกครองกลาง หลังศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งทุเลาคดีอุทธรณ์บ.นภา เหตุกรมบัญชีกลางยกเว้นคุณสมบัติประมูลสัญญา 3-1 รถไฟไทย-จีน ด้าน ITD เดือดยื่นฟ้องศาลฯ หวั่นกระทบโครงการล่าช้า
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการประกาศประกวดราคาโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือ รถไฟไทย-จีน งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ขณะนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ชะลอคำวินิจฉัยของบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) หลังจากนี้รฟท.ต้องรอฟังคำสั่งวินิจฉัยจากศาลปกครองกลางก่อนให้ดำเนินการอย่างไร
“ส่วนกระบวนการประมูลในสัญญานี้เป็นอย่างไรนั้น เรายังตอบไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของศาลปกครอง โดยในกรณีนี้ศาลปกครองสั่งทุเลาคำวินิจฉัย จากเดิมที่คณะกรรมการวินิจฉัยให้บริษัทบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) ขาดคุณสมบัติการประกวดราคาในสัญญาของโครงการนี้ ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV เป็นผู้มีคุณสมบัติและเป็นผู้ชนะการประมูลในสัญญาดังกล่าว ซึ่งถือว่ากรณีที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้บริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด เข้าเกณฑ์คุณสมบัติการประกวดราคานั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
รายงานข่าวจากศาลปกครอง กล่าวว่า ล่าสุดศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 3/2564 ระหว่าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทนเอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ฟ้องว่า รฟท.กับพวกรวม 3 คน ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง มีคำสั่ง อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้แก่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เป็นการเฉพาะราย นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางมีคำวินิจฉัยว่า การอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงาน ฟังขึ้น และสั่งให้รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้บริษัทไชน่า เรลเวย์ จึงมีหนังสือโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย เห็นสมควรที่ศาลฯมีคำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาตามคำสั่งของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด จนกว่าศาลจะพิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่งผลกระทบต่อการบริหารสาธารณะทั้งโครงการฯ ของรฟท. เนื่องจากรฟท.ไม่สามารถว่าจ้างและทำการก่อสร้างได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ขณะเดียวกันบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทนเอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หากไม่ได้รับการคัดเลือกประมูลโครงการดังกล่าว หากในกรณีที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ ไม่เรียกค่าเสียหายในคดีนี้แต่ต้องการลงนามสัญญาร่วมกับรฟท. ไม่สามารถเป็นข้อสรุปได้ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ในภายหลัง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงสมาชิกของกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV เท่านั้น จึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย รวมทั้ง รฟท.ยังไม่ได้มีคำสั่งเพิกถอนผลการประกวดราคาที่ให้ ITD-CREC No.10 JV เป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่สัญญาในโครงการฯ นี้จะล่าช้าออกไป ซึ่งจะกระทบต่อการก่อสร้าง เนื่องจากรฟท.ไม่สามารถส่งมอบงานโยธาให้แก่ผู้รับเหมางานระบบรถไฟฟ้าได้ทันเวลา ส่งผลให้รฟท.เสียค่าปรับแก่ผู้รับเหมาจากการส่งมอบงานโยธา หลังจากที่มีการลงนามสัญญาแล้วและจะกระทบต่อการเปิดให้บริการแก่ประชาชน
อย่างไรก็ตามทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ระบุว่า กรณีที่กรมบัญชีกลางยกเว้นคุณสมบัติการประกวดราคาของบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย หากคำสั่งของกรมบัญชีกลางและบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด ยังมีผลบังคับใช้จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไชน่า เรลเวย์ เนื่องจากบริษัทได้เตรียมการตั้งแต่การเข้าร่วมยื่นข้อเสนอและทราบว่าเป็นผู้ชนะการประกวดราคา จึงได้เตรียมจัดซื้อและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าจ่ายในการเตรียมเอกสารเพื่อเตรียมดำเนินงานสัญญา3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ทำให้บริษัทเสียโอกาสและเสียชื่อเสียง เพราะบริษัทเป็นตัวแทนของรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับมอบหมายให้ยื่นข้อเสนอโครงการดังกล่าว หากบริษัทไม่ได้ลงนามสัญญากับรฟท. ส่งผลให้บริษัทไม่ได้รับการสนับสนุนหรือได้รับความเชื่อมั่นในการเป็นตัวแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการอื่นๆ ทั้งนี้บริษัทไม่ได้ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายกับรฟท.แต่อย่างใด
ปีที่41 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3685 วันที่ 6-9มิถุนายน2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-
อัพเดทล่าสุด รถไฟไทย-จีน เฟส 2 คืบหน้าถึงไหนแล้ว
-
ปักหมุดปีนี้ รฟท.จ่อลงนามสัญญารถไฟไทย-จีนเพิ่ม 4 สัญญา
-
อัพเดทคืบหน้ารถไฟไทย-จีน สัญญา 3-1 หลังศาลปกครองฯ สั่งชะลอผลอุทธรณ์
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij