รฟม.ยืนยันหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังเป็นเพียงขั้นตอนเปิดรับฟังความเห็น ชี้หากกำหนดใช้เทคนิค 30 คะแนน ไม่ถือเป็นเกณฑ์สูง เทียบ กทม.เคยยึดเกณฑ์เทคนิคถึง 90 คะแนน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยยืนยันว่าปัจจุบัน รฟม.ได้ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) เนื้อหาที่ประกาศออกมายังไม่ใช่ RFP และยังไม่ใช่แนวทางที่จะเปิดประมูล เป็นเพียงข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 เห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ดี การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน รฟม.ยืนยันว่าไม่ใช่การกำหนดใช้ในมาตรฐานที่สูงเกินไป เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีโครงการของกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค 90 คะแนน และด้านราคา 10 คะแนน ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าที่ต้องใช้วิธีการด้านเทคนิค ใช้สัดส่วนนี้ก็ไม่สูงเกินไป อีกทั้งยังเป็นโครงการร่วมทุนเอกชน ดังนั้น รฟม.ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเกณฑ์ด้านราคาสูงถึง 70 คะแนน
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการ รฟม.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 16 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนส่งข้อเสนอเพิ่มเติม และประมวลผลอีก 5 วัน ก่อนจัดทำร่าง RFP เพื่อเสนอคณะกรรมการ ม.36 ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะประกาศขายซองเอกสาร คาดว่าจะได้ตัวเอกชนชนะการประมูลในเดือน ส.ค.นี้ และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ย.2564
อย่างไรก็ดี การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการบริหารการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า บริษัทก่อสร้าง นักลงทุนภาคเอกชน และภาคเอกชนทั่วไปที่สนใจในโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ได้ที่ https://www.mrta.co.th ตั้งแต่วันที่ 2 – 16 มี.ค. 2564 โดยกรอกข้อคิดเห็นของท่านตามแบบสอบถาม และจัดส่งให้ รฟม. ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของ รฟม. ([email protected]) ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 มี.ค.2654
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)