เผยแพร่:
ปรับปรุง:
อินโดนีเซียกำลังเจรจาอย่างจริงจังกับทั้งฝ่ายทหารของพม่าและตัวแทนของรัฐบาลจากเลือกตั้งที่ถูกโค่นล้ม ในความพยายามที่จะยุติวิกฤตการณ์จากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียแถลงในวันพุธ (24 ก.พ.)
อินโดนีเซียกำลังแสดงตัวเป็นผู้นำภายในสมาคมอาเซียน ในความพยายามที่จะแก้ไขคลี่คลายความปั่นป่วนวุ่นวายในพม่า ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็ตโน มาร์ซูดี ของแดนอิเหนา ได้พบหารือกับ วันนา หม่อง ละวิน ผู้ซึ่งคณะทหารพม่าแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ ในวันพุธ ก่อนหน้าที่เธอจะออกมาแถลงข่าว
กองทัพพม่าได้เข้ายึดอำนาจภายหลังกล่าวหาว่ามีการทุจริตคดโกงใหญ่โตในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย เวลานี้ทั้งซูจีและพวกผู้นำจำนวนมากของ NLD ถูกฝ่ายทหารควบคุมตัวเอาไว้
ทางฝ่ายผู้คัดค้านการรัฐประหารได้จัดการชุมนุมเดินขบวนตามเมืองใหญ่น้อยทั่วพม่ามาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน และมีผู้ประท้วงอย่างน้อย 4 คนและตำรวจ 1 คนเสียชีวิต จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น
คตวามพยายามของอินโดนีเซียที่จะคลี่คลายวิกฤตคราวนี้ ได้ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยขึ้นในหมู่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ผู้ซึ่งหวาดกลัวว่าการทำความตกลงกับคณะทหารจะกลายเป็นการให้ฐานะความชอบธรรมแก่พวกผู้ทำรัฐประหารเหล่านี้ รวมทั้งกลายเป็นการยอมรับความพยายามของฝ่ายทหารที่จะยกเลิกการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ทั้งนี้พวกเขายืนยันว่าต้องเคารพยอมรับผลการเลือกตั้ง
เร็ตโน ซึ่งพูดกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ความผาสุกของประชาชนชาวพม่าคือสิ่งที่ต้องถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง
“เราขอให้ทุกๆ คนใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่หันไปหาความรุนแรง … เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายและการนองเลือด” เร็ตโน กล่าว ภายหลังจากเธอพูดจากับรัฐมนตรีของพม่า และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทย
รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนา บอกว่าเธอมีการติดต่อสื่อสาร “อย่างเข้มข้นจริงจัง” กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็รวมไปถึงพวกสมาชิกรัฐสภาที่ถูกขับออกมาจากรัฐสภาหลังการยึดอำนาจ ที่เรียกกันในชื่อภาษาพม่าว่า “ปยูดองซู ลุตตอ” (Pyidaungsu Hluttaw) ทั้งนี้รยยเตอร์ยังไม่สามารถขอความเห็นในทันทีเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐมนตรีอินโดนีเซียพูดถึงนี้ จากทาง คณะกรรมการตัวแทนของ ปยูดองซู ลุตตอ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw ใช้อักษรย่อว่า CRPH)
ในรายงานชิ้นหนึ่งของรอยเตอร์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ได้อ้างอิงแหล่งข่าวหลายรายกล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังเสนอให้เหล่าสมาชิกสมาคมอาเซียน ส่งผู้ติดตามดูแลไปทำให้แน่ใจได้ว่าพวกนายพลพม่าจะยึดมั่นทำตามคำสัญญาของพวกเขาในเรื่องที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างยุติธรรม เรื่องนี้กลายเป็นการเพิ่มความระแวงสัยในหมู่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบางรายว่า การเข้ามาแทรกแซงของอินโดนเซียอาจเป็นการบ่อนทำลายข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ให้ยืนยันผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว
ฝ่ายทหารไม่ได้ให้กรอบเวลาชัดเจนว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ที่พวกเขาสัญญาไว้กันเมื่อใด ถึงแม้เมื่อตอนยึดอำนาจนั้นพวกเขาได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
ในวันพุธ ยังมีผู้ประท้วงหลายสิบคนไปชุมนุมกันที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเมืองใหญ่ที่สุดของพม่า โดยพวกเขาชูแผ่นป้ายเขียนข้อความอย่างเช่น “เคารพการออกเสียงของเขา” และ “เราโหวตให้ NLD”
“รัฐมนตรีต่างประเทศของเราคือ อองซานซูจี” พวกผู้ประท้วงตะโกน เป็นการอ้างอิงถึงตำแหน่งที่เธอครองอยู่ในคณะรัฐบาล ตั้งแต่ที่เธอนำพรรค NLD คว้าชัยชนะท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015
เร็ตโนไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง แต่กล่าวว่า อินโดนีเซียขอเน้นย้ำถึง “ความสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบประชาธิปไตยที่ต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้ามีส่วนร่วม”
“เราจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่จะมีส่วนช่วย … ในรูปแบบของการสนทนากัน, การปรองดอง, และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” เธอบอก “อินโดนีเซียจะอยู่กับประชาชนชาวพม่า”
ก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า เร็ตโน จะเดินทางจากกรุงเทพฯต่อไปยังพม่าในช่วงเช้าวันพุธ (24) แต่แผนการนี้ได้ถูกยกเลิกไป กระทรวงของเธอแถลง
ต่อมาในวันเดียวกัน ประเทศไทยแถลงว่า วันนา หม่อง ละวิน ได้เดินทางมาถึงไทย ซึ่งถือเป็นการเดินทางสู่ต่างประเทศทริปแรกของสมาชิกรายหนึ่งในคณะรัฐบาลทหารชุดใหม่ของพม่า
แหล่งข่าวชาวไทยคนหนึ่งบอกว่า รัฐมนตรีพม่าผู้นี้ยังมีกำหนดการที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในไทยเมื่อปี 2014 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะยืนยันว่าเขาได้พบกับรัฐมนตรีพม่าผู้นี้หรือไม่
“บางครั้งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการ ขอให้เข้าใจด้วย สื่ออย่าถามทุกเรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่แล้ว” เขากล่าวกับพวกผู้สื่อข่าว
“เราในฐานะมิตรประเทศก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ก็สุดแล้วแต่จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เราก็เป็นกำลังใจในฐานะประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยแค่นั้นพอแล้ว”
ก่อนหน้านี้ “ฟิวเจอร์ เนชัน อัลไลแอนซ์” (Future Nation Alliance) กลุ่มเคลื่อนไหวในพม่า แถลงว่า การไปเยือนพม่าของเร็ตโนจะเท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลทหารพม่า พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ หารือกับ ทิน ลิน อ่อง สมาชิกของ CRPH ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านกิจการต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเจนซีส์)